27 Jul – 5 Aug 12 : Tibet – The Rooftop of the World (Part 2)

Day3(29/7/2555) : Potala Palace – Jokung Temple – Deprung Monastery

                Tashi de rek สวัสดียามเช้าแด่ฟ้าวันใหม่แห่งลาซา เอ! อาหารเช้าที่นี่กินที่ไหนว่ะเนี่ย อ่อ!ชั้นห้า อ๋อย…เสียงเหี่ยวๆกระเด็นออกมาจากปาก เมื่อต้องเดินขึ้นไปชั้นห้าโดยที่ไม่มีลิฟต์ ณ ดินแดนที่สูงแบบนี้ กว่าจะได้กินมันเหนื่อยรู้มั๊ยนั่น เป็นความสงสัยมากว่าทำไมต้องชั้นห้า เดินหอบแฮ่กขึ้นไป แล้วก็ต้องร้อง อู้หูววววว…พาโนรามิควิวเลยนะเนี่ย เทือกเขาสูงสีเขียวสด ฉาบด้วยแสงแดดเป็นปื้นๆ โอบล้อมห่อหุ้มเมืองลาซาแห่งนี้ครบทุกด้าน หลังคาดาดฟ้าตึกเก่ามีฝุ่นเกาะ กระจายไปทั่วเมือง หมอกยามเช้าจางๆลอยตัวคลุ้งอยู่ในอากาศไกลสุดลิบตา สุดยอดไปเลยครับ ทำเอาหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง มีเรี่ยวแรงขึ้นมาทันที อาหารเช้าวันนี้เป็นข้าวต้มผักดอง และพืชพรรณพื้นบ้านของทิเบต เอ่อ! กรูกินไม่ได้อ่า ต้องพยายามเลือกที่กินได้มากที่สุดมายัดใส่ท้อง ไข้ต้ม ถั่วลิสง มะเขือเทศ ผัดผักที่หน้าตาดูคุ้นเคย เอามาคลุกๆกินเป็นอาหารเช้าได้พอผ่านไปหนึ่งมื้อ

เช้าวันใหม่บนดาดฟ้าโรงแรม ผมประทับใจนะ

                โปรแกรมวันนี้ค่อนข้างแน่นทีเดียว เริ่มด้วยพระราชวังโปตาลาซึ่งต้องนัดคิวเข้าชม พวกผมไกด์ได้ติดต่อให้ในช่วงเช้า หลังกินข้าวเสร็จก็ไปยืนต่อแถวรอเข้าชมกันเลย สภาพรอบๆโปตาลาก็จะมีกระแสกลุ่มชนชาวทิเบตเดินแกว่งกงล้อมนตรา เจียดลูกประคำในมือทีละเม็ดหลังสวดภาวนาจบบท พร้อมทั้งเดินตามเข็มนาฬิกาเพื่อเป็นความสิริมงคล เรียกพิธีกรรมตามภาษาทิเบตว่า “Kora” ส่วนตัวผมเองไม่รู้อะไรในบทสวด แต่เวลาจะเดินเที่ยวในวัดไหนก็ตามจะต้องเดินวนตามเข็มนาฬิกาทุกๆที่ไป ก็จะเรียกการเดินวนรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า Kora เช่นกัน

ลัลล้าบนโปตาลา

พระราชวังโปตาลา จากมุมบนวัดโจคัง

                อันเนื่องด้วยที่พระราชวังโปตาลา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่ใช่ว่าเพราะอายุเยอะถึง 1400 กว่าปีอย่างเดียว แต่ด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ข้าวของเครื่องใช้อายุนับพันปี ที่บรรจุรักษาอยู่ในพระราชวังสีแดงเลือดหมูที่โอบล้อมไปด้วยวังสีขาวรอบๆแห่งนี้ ทำให้ปราการสีแดงขาวนี้มีเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเชยชมวันละมากถึงสองพันคนต่อวัน(คิดว่าเป็นตัวเลขในช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ปกตินะครับ) พระราชวังแห่งนี้สร้างอยู่บนท่อนซุงนับหมื่นนับพันต้น เดิมเป็นที่พำนักและปฏิบัติราชการของกษัตริย์ สร้างโดยพระเจ้าซองเซ็มกัมโป หลังระบอบกษัตริย์ล่มสลาย องค์ดาไลลามะทั้งหลาย(หลักๆคือองค์ที่ห้า)ก็เข้ามาบูรณะเพิ่มเติม และใช้ปฏิบัติงานราชการต่อมาหลายรุ่นๆจนถึงรุ่นที่สิบสี ที่ต้องระหกระเหเร่ร่อนออกจากบ้านเกิดไปอยู่ ณ ต่างแดน จากเดิมที่เรียกว่าพระราชวังแดง(สร้างอยู่บนภูเขาแดง มีชื่อภาษาทิเบต ผมจำไม่ได้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเรียกตามสีที่สร้างพระราชวังด้วยรึเปล่า) ภายหลังได้รับการตกแต่งแล้วเปลี่ยนมาเป็นชื่อ พระราชวังโปตาลา(พระราชวังฤดูหนาว) ในเวลาถัดมา

มุมบนที่ต้องยอมแลกกับความเหนื่อย

ส่วนกลางที่ดาไลลามะจะใช้สำหรับออกมาดูงานเทศกาล

                เล็กๆน้อยๆกับข้อมูลพระราชวัง จะบอกว่า ผมได้ศึกษาข้อมูลมาพอสมควรกว่าจะได้มาเห็นของจริง มันยิ่งใหญ่จริงๆครับ พระราชวังแดงเลือดหมูล้อมด้วยปราการขาวหันหน้าเข้าสู่เมืองโปตาลา ลายละเอียดเมื่อมองดูชัดๆจะเห็นว่ามีต้นซุงค้ำอยู่เป็นพันต้นจริงๆ บางผนังกำแพงก็ใช้วัสดุบางอย่างที่ไม่ใช่ปูนหรือหิน เป็นแค่ไม้เส้นๆเอามามัดทำผนังกำแพง ห้องหับนับพันที่ไล่เดินไต่ระดับความสูง ทำเอาเหนื่อยไม่ใช่น้อย นึกภาพไม่ออกว่าสมัยก่อนเค้าจะเหนื่อยกันมั๊ยเนี่ยที่ต้องเดินขึ้นลงในพระราชวังแห่งนี้ ในวังไมได้รับการอนุญาตให้ถ่ายรูปครับ จึงได้แต่เก็บวิวบันทึกภาพจากด้านนอกเป็นหลัก ส่วนด้านในหลักไกด์จะพาเข้าชมเป็นบัลลังค์ของดาไลลามะแต่ละองค์ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ของใครของมันไม่มีใช่ปนกัน หลุมศพของดาไลลามะก็บรรจุอยู่ในนี้ จำไมได้ว่าองค์ไหนบ้าง โดยท่าบรรจุศพจะทำในท่านั่งสมาธิ ทำพิธีศพตามด้วยครอบเจดีย์ด้วยทอง(Funeral tomb) ตกแต่งด้วยหินสีอันมีค่าของทิเบต อย่างเช่น หินเทอร์ควอยซ์ หรืออัญมณีสีอื่นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีMandara เข้าใจว่าเป็นวิมานของเทพเจ้าในชาติต่างๆที่เค้าจิตนาการขึ้นมา ทั้งโลกนี้ โลกหน้า ส่วนใหญ่จะทำจากบรอนซ์สีเหลืองทองอร่าม ตกแต่งทั้งนอกและในวิมานอย่างสวยงาม เมื่อมีวิมานก็ต้องมีเทพเจ้า ในพระราชวังนี้มีเทพเจ้าหลายองค์เลย สร้างซ้ำๆกันก็มี ที่จำได้ก็ God of wisdom, God of compassion และ God of protection จำได้แค่นี้ เทพเจ้าแต่ละองค์ก็ทำหน้าที่แต่งต่างกันออกไป ไม่มีใครทำงานซ้ำกัน

รอยเท้า ศรัทธา vs ความอยากเก็น

ยิ้มหน่อยคร๊าบบบ

                ระหว่างเดินเยี่ยมชมก็จะได้กลิ่นกำยานของไม้หอมทิเบต ลอยคลุ้งอบอวนไปทั่ว ไม่ค่อยคุ้นกับกลิ่นเท่าไรนัก แต่ไม่ถึงขึ้นกระอักกระอ่วมจนอยู่ไม่ได้ แสงเปลวไฟจากตะเกียงถูกต่อเชื้อด้วยน้ำมันหอมระเหย(Gleez)ของชาวทิเบตที่ทำจากพืช แล้วนำมาใช้เติมแทนน้ำมันตะเกียง คนทิเบตบางคนก็จะหิ้ว Gleez มาบีบใส่เชิงตะเกียงเพื่อต่อเปลวไฟให้สว่างโชติช่วง ใส้ตะเกียงที่นี่ก็ใช่สำลีเอามาปั้นทำเป็นเส้นแทนเชือกหรือไส้เทียน ใช้จุดได้นานเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว ผมและเพื่อนๆดำผุดดำโผล่ขึ้นลงไปมาในวังจนเหนื่อยได้ที่ ใช้เวลาสามชั่วโมงยังไม่สามารถซึมซับได้ทั่วสักเท่าไร หน้ามืดหน้าซีดกันไปตามๆกัน เดินซึมซับพอได้อารมณ์ก็ต้องออกจากวัง เพราะเค้าจำกัดเวลาเข้าออก เพื่อไม่ให้คนเข้ามาแน่นเกินไป กว่าจะออกมาจากวังได้ ตอนเดินลงก็เหนื่อยแฮะ นี่เราเดินขึ้นมาสูงถึงขนาดนี้เชียวหรอเนี่ย แฮ่กๆ มองออกไปนอกวังจากมุมสูง เมืองลาซานี่สวยจริงๆ อยากให้หยุดความเจริญไว้แค่นี้จริงๆ ถ้าดาไลลามะมาได้เห็นบ้านเมืองตัวเอง ณ ตอนนี้ คงจะงงไม่น้อย เพราะมันคงเปลี่ยนไปเยอะหลังจากที่ท่านลี้ภัยออกไป เมื่อ 53 ปีก่อน(ลึ้ภัยเมื่อ 17 มีนาคม 2502) ส่วนหนังเรื่อง Seven years in Tibet ที่ได้พระเอกดังแบรดพิตมาเล่นนั้นไม่ได้ถ่ายทำที่ทิเบตนะครับ เค้าไม่อนุญาต เพิ่งรู้ว่าภาพที่เห็นทั้งหมดในเรื่องนั้นอยู่ที่ประเทศอินเดีย แหล่มเลย อุตส่าห์เชื่อมาตลอดว่าถ่ายที่ทิเบตนะนั่น

ประตูเก่าแก่พันปีก็ยังอยู่ยั้งคงทน

                ชมวังเสร็จก็ชมวัดต่อ มุ่งหน้าสู่วัดโจคัง วัดที่ไปดราม่ามาเมื่อวานนั่นล่ะครับ วันนี้เลยมาดราม่าต่อ เวลาเที่ยวตอนนี้หิวข้าวเที่ยงมากแต่ต้องเก็บโปรแกรมเช้าให้หมดก่อน เนื่องจากพวกผมช้ากันเอง จึงไล่ต้อนกันเองเพื่อไปเที่ยวกันต่อ            วัดโจคังเป็นวัดโบราณที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระราชวังโปตาลา ในสมัยก่อนที่ทิเบตยังไม่มีวัดไว้สักการบูชา พระเจ้าซองเซมกัมโป(คนนี้อีกแล้ว จริงๆก็มีดังอยู่ไม่กี่คน กษัตริย์องค์นี้ กับท่านดาไลลามะที่ห้า ที่สร้างและนำความเจริญมาสู่ทิเบต) อยากสร้างวัด จึงโยนเหรียญขึ้นบนฟ้า ถ้าไปตกที่ไหนก็จะสร้างวัดตรงนั้น เหรียญก็ลอยขึ้นฟ้าแล้วตกลงบนแม่น้ำ การถมดินเติมพื้นสร้างวัดจึงได้ก่อกำเนิดขึ้นได้เป็นที่ราบกว้างใหญ่ให้ได้เดินเล่นกันทุกวันนี้(เค้าเล่ากันมาอย่างนั้นนะครับ) ด้วยความที่วัดโจคังยังคงมีชีวิตอยู่ มีพระลามะมาสวดมนต์ทำวัตร ทำให้สถานศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ดูมีชีวิตมากกว่าโบราณสถานที่ไร้อารมณ์อย่างโปตาลา การหมอบกราบอัษฎางคประดิษฐ์ที่เคยเรียนในหนังสือเรียนก็ได้เห็นจริงๆวันนี้ ผุดลุกผุดกราบเป็นสิบๆรอบไม่หยุด เหมือนวีดิโอเทปที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายๆรอบของคนๆนึง ไม่มีสีหน้าเหน็ดเหนื่อย สายตามุ่งมั่นกับการสวดมนต์ภาวนา แล้วคุกเข้าไถลตัวกับพื้นไปเรื่อยๆ พวกผมใช้เวลาชั่วครู่ในการเก็บภาพอัศจรรย์นี้ก่อนจะเข้าไปในวัด ส่วนตัวผมเองที่เคยคิดจะกราบอัษฎางคประดิษฐ์หน้าวัดได้มลายให้ไป เพราะไม่กล้าจะเอาความศรัทธาของคนที่นี่มาล้อเล่น การทำเพื่อความสนุกล้อเลียนคงทำไม่ได้ในบริบทแบบนี้เป็นแน่แท้

ที่สูงส่งไม่ใช่อยู่ที่ความชิดใกล้กับพื้น …มันสูงส่งจากภายในจริงๆ

ระฆังวัดโจคัง งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

                การเข้าชมวัดก็ยังคงต้องเดินวนตามเข็มแม้กระทั่งด้านในวัด และห้องหับต่างๆ เห็นพระลามะอยู่บ้างในช่วงเที่ยงวันแบบนี้ สงสัยคงไปนอนกันหมด เดินชมความเก่าแก่พันปีที่ยังหายใจได้ เสียอยู่แค่ว่าหายใจได้แบบติดขัด ไม่มีอิสรภาพละมั๊ง จำได้ว่าตอนที่ไปเนปาลเที่ยวเมืองโบราณที่หายใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเมืองปาตัน บักตาปูห์ เสียงหายใจของคนที่นี้โล่งกว่าที่ทิเบตเยอะ เพราะมันคือของๆเค้า เปรียบเทียบได้สักพักก็มีคนสะกิดให้ผมมองไปยังคนแก่วัยสักหกสิบมายืนเกาะริมรั้วมองไปยังบัลลังค์ปฏิบัติงานของดาไลลามะองค์ก่อนๆ ลำตัวก้มโค้ง มือพลางจะเอื้อมจับ สายตาละห้อย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะรอยเหี่ยวย่นหรือความโศกเศร้าที่มี ถึงทำให้ภาพที่เห็นมันดำดิ่งซะขนาดนี้ แล้วผมก็ได้ทำใจแล้วเดินต่อ พลางเห็นภาพหญิงชราคนนี้วนทับซ้ำในหัวอยู่หลายครั้งกว่าจะมลายหายไป

เจ้าชายเจอเด็กจีนแล้วอิจฉา ขอทำท่าบ้างคร๊าบบบ

                หลังคาสีทองสะท้อนแสดงแดดยามเที่ยงตรง กงล้อธรรมจักรกับกวางหมอบขนาบทั้งสองข้างตั้งเด่นตระหง่านเป็น

สัญลักษณ์ให้คนที่ผ่านไปมาได้รู้ว่า นี่ล่ะคือวัดทิเบต จากชั้นดาดฟ้ามองไปทางด้านหน้าวัดสามารถมองเห็นพระราชวังโปตาลาอย่างชัดเจน เหลือบมองด้านล่างก็จตุรัสโจคังนี่ล่ะ มีพวกขยะชุดเขียว(ทหาร)ชุดฟ้า(ตำรวจ)เดินไปมารกลูกหูลูกตาชะมัด ขนาดจะถ่ายวิวจากมุมบนยังต้องระวังไอ่พวกทหารsniperที่เล็งอยู่ตามดาดฟ้ารอบๆวัดนี้ นี่มันอะไรกันเนี่ย กรูมาเที่ยวทิเบตนะ ไม่ได้มาสามจังหวัด ทำหวาดระแวงตลอดเวลา ในกลุ่มพยายามเบี่ยงความสนใจ ลบภาพขยะชุดเขียวฟ้าออกจากใจ แล้วถ่ายรูปกันต่อ เที่ยวให้มีความสุขยิ้มด้วยความดีใจ แชะ! ภาพหมู่ภาพแรกของทริปมาแล้ว กว่าจะได้ครบห้าคน หาจังหวะอยู่ตั้งนาน ถ่ายรูปเสร็จก็ลงจากวัด เก็บตกความศรัทธาที่เห็นก่อนจะออกมาจากวัด

                ไกด์บอกว่าดีที่มาวัดนี้วันเสาร์อาทิตย์ เพราะวันธรรมดานักแสวงบุญจากทั่วทิเบตจะมาเยอะมาก เข้ามาในวัดจนแน่น เสียงดังอื้ออึงไปหมด อธิบายอะไรก็ไม่รู้เรื่อง อย่างที่มาวันนี้ดี ได้มีโอกาสเดินสบายๆ เก็บบรรยากาศวัดได้เต็มที่ แต่ก็มีบางกลุ่มนักท่องเที่ยวอยากเห็นบรรยากาศอัดแน่นของนักแสวงบุญในวัดแห่งนี้ เห็นบอกว่ามีดูได้บรรยากาศดี แต่ไม่ใช่กลุ่มของผมแน่นอนที่ต้องการแบบนั้น ร้อนอิตายแล้วนิ!

                ร้อนจังนิ! เดินไปบ่นไป หิวด้วย เสียงสมาชิกร่วมทีมเริ่มบ่นอุบอิบ ได้เวลาข้าวเที่ยงพอดี ตอนนั้นก็บ่ายโมงกว่าๆเห็นจะได้ เที่ยงนี้ไกด์พาไปกินร้าน Namaste Lhasa ไม่รู้ว่าจำชื่อผิดมั๊ย แต่รสชาติถือว่าอร่อยเลยทีเดียว เน้นสั่งอาหารฝรั่งกันทั้งนั้น ปล่อยให้นักชิมอย่างเบิ้ม เฮียธีร์ และพี่แป๊บ ชิมของแปลกกันไป เช่น Naans แผ่นแป้งคล้ายโรตีเอาไปอบกินแทนข้าว หรือว่าจะเป็นสเต้กเนื้อจามรี ส่วนผมกับพี่เจเราสำนึกรักบ้านเกิด ถือconceptยอมตายไม่ยอมเสียลิ้น จริงๆมันก็ไม่ดีเลยล่ะครับ ส่วนตัวผมเองอยากเป็น Backpacker แต่กินยากอย่างนี้ เสียชื่อหมด ผมแค่พลังเยอะ นอนง่าย ถ่ายคล่อง(หมายถึงขี้ และการถ่ายรูป) ชิมได้ถ้ามีคนให้ลองชิม แต่ถ้ากินเป็นมื้อเจ้าชายขอบายดีกว่า นึกแล้วก็รู้สึกพลาดที่ไม่ได้ตระเตรียมอาหารแห้งมา ถ้ามีมาม่าล่ะก็ อะไรก็ไม่กลัวทั้งนั้น ผงชูรสที่กินมันคงไม่ทำให้ผมผมร่วงไปกว่านี้หรอก นั่งพักเติมแรงกันอิ่มแปล้ ดูพี่ๆนั่งจิ้มโทรศัพท์กัน เช็คและโพสต์รูปกัน ทำให้ผมรู้สึกขัดตาเล็กน้อยกับการจดจ่อกับเทคโนโลยีพวกนี้ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แค่รู้สึกว่าอยากให้ใช้อย่างพอดี เงยหน้ามาคุย และกินลมชมวิวเหมือนเมื่อสี่ห้าปีก่อน ก่อนที่smart phoneทั้งหลายเหล่านี้จะบุกโลก ผู้คนคงได้สื่อสารกันได้ดีกว่านี้ และมองเห็นพื้นโลกได้มากกว่าปัจจุบันที่ทำกันอยู่

ทิเบตนะ ไม่ใช่กรีซ

                อีกหนึ่งเป้าหมายของวันนี้อยู่นอกเมืองเสียด้วย นั่นคือ พระอารามเดปรุง หรือ Deprung monastery พระอารามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาจจะงงว่าเดี๋ยว Monastery เดี๋ยว Temple มันต่างกันยังไง ง่ายๆว่า Temple ก็วัดตรงๆตัวนั่นล่ะ ส่วน Monastery เป็นเหมือนกับวิทยาลัยของลามะทำนองนั้น จึงทำให้พระอารามแห่งนี้ยังคงเคลื่อนไหวต่อได้ ในอดีตนั้นพระอารามแห่งนี้ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เมื่อรัฐบาลจีนมาปกครองล้อมกรอบ พระอารามนี้จึงถูกจำกัดสิทธิ์หลายๆอย่าง รวมไปถึงจำนวนพระลามะที่หดหายไปด้วย จากหลักหมื่นเหลือเพียงหลักร้อยเท่านั้น

รูปหมู่ นะจ๊ะ

                ความเหนื่อยยากในการเข้าชมอารามนี้ก็เพราะความสูงอีกเช่นเคย รถพาไต่ขึ้นมาบ่นเขา พอจอดรถแล้วก้าวออกมาสัมผัสผืนดิน ทุกคนปวดหัวตุ๊บๆ มึนงงไปพร้อมๆกัน แดดก็สาดส่องแบบไม่แยแสกรูสักนิด โอย! มึนโว้ย ยืนปรับตัวได้ไม่นาน ไกด์ก็พาเดินชมอารมด้านนอกก่อน โดยวนตามเข็มอีกแล้ว ช่วงแรกก็พาไปดูจุดที่ใช้ขึงผ้าทังก้า(Thangka)ขนาดยักษ์ ที่ใช้ตอนงานเทศกาล แล้วเดินวนสำรวจอาราม เข้าไปด้านในสักการะพระพุทธรูปทำจากไม้ขนาดยักษ์ ดื่มน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เดินลอดม้วนผืนผ้าทังก้าขนาดยักษ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะออกมาเดินวนภายนอกอีกรอบ รู้สึกเหนื่อยจับใจจริงๆ แต่ยังไงก็เหนื่อยไม่เท่าคุณกาญจนา หงส์ทอง ที่เขียนบรรยายไว้ว่า “หัวใจของฉันมันกำลังเต้นแร้งเต้นกาทำท่าเหมือนอยากจะทะลักออกมาดูเดรปรุง เมื่อหายใจไม่คล่องจมูก ปอดกระพืออย่างผิดปกติ หัวใจกระเพื่อมแบบรัวจังหวะ เราทั้งคู่จึงตัดสินใจหยุดเดิน” โอ้วอ่านของคุณกาญจนาแล้วผมหายเหนื่อยไปเลยทีเดียว เขียนบรรยายได้ใจผมมากครับ หลายครั้งที่ได้หยุดพักหอบแฮ่กอย่างที่คุณกาญจาบอก แล้วเงยหน้ามองดูวิวทิวทัศน์สักมุมไหนมุมหนึ่งของพระอาราม ก็จะเห็นความสวยงามเล็กน้อยๆที่ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแมวทิเบตที่นอนหนาวขดอยู่ข้างท่อนซุง หมาน้อยนั่งกระสับกระส่ายดูนักท่องเที่ยวที่เดินไปมา พระลามะยืนบิดผ้าชำระล้างชุดเสื้อผ้า หม้อน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์อันแสดงถึงวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับลามะที่นี่มานับร้อยปี นี่ล่ะครับจุดพักเหนื่อยอย่างที่ผมว่า มันมีอะไรในความไม่มีอะไรจริงๆ

ชีวิตของคนที่นี่ กับคนอย่างเรา ต่างกันเลยนะครับ

                กลับจากปราการแห่งความรุ่งเรืองทั้งสามแห่ง ก็เข้ายังไม่วายที่สภาพร่างกายจะเข้าสู่ระดับปกติ ทุกคนยังดูเพลีย และมึนกับกิจกรรมวันแรกนี้ ด้วยความที่กิจกรรมแน่นมาก และความช้าอันเนื่องมาจากพวกผมต้องถ่ายรูปทุกสิบก้าว ไกด์จึงได้เสนอตัวเลือกในการท่องเที่ยวในวันถัดไป โดยจะใช้เวลาที่ Ganden Monastery ให้มากขึ้น กินข้าวเที่ยงที่วัด แล้วดูพระโต้พระธรรม(Monk debating)กันที่ Sera Temple แล้วแนะให้ตัด Norbulingka palace ออก ณ ตอนนั้นเหนื่อยจริง และมีข้อมูลว่าที่ Norbulingka palace นั้นเป็นพระราชวังฤดูร้อน หน้าตาข้างในเหมือนโปตาลา และถ่ายรูปไม่ได้ พวกผมทั้งห้าคนจึงตัดสินใจตัดโปรแกรมนี้ออกไป เพื่อความคล่องตัวในวันรุ่งขึ้น ด้วยความที่ไม่ชอบเที่ยวแบบชะโงกทัวร์ ตัดแบบนี้ผมก็ยอมครับ

ตรอกนี้ยังมีชีวิต

พี่แป๊บ ตากล้องประจำทริป ยินดีที่ได้รู้จักอีกรอบคร๊าบบบ

                มื้อเย็นของวันนี้เป็นมื้อที่ผมปวดใจที่สุด Local Tibetian Food โอ้วโน่ว! ไม่ไหวนะ รสชาติ กลิ่น เออะ…ไม่พร้อมจริงๆ กินได้ไม่กี่คำก็อิ่มทันที ปล่อยให้นักชิมที่เหลือจัดการอาหารบนโต๊ะกันต่อไป ไม่ขอจดจำอะไรมากกับอาหารมื้อนี้ กลับโรงแรมมาเก็บภาพพระอาทิตย์ตก(ไปแล้ว)ที่ดาดฟ้าโรงแรม แลลาซายามเย็น ดูเหมือนจะทำให้ผมมีความสุขมากกว่าการจะต้องมานั่งบนโต๊ะทนกินอาหารเย็นนี้อยู่หลายเท่าตัวนัก

                แสงไฟที่ส่องกระทบโปตาลาให้จรัสจ้ายามค่ำคืน ดาวระยิบระยับน้อยๆจากห้องเล็กห้องน้อยตามบ้าน ที่ฉายวับแวมตามลมที่สะบัดผ่านผ้าม่าน แสงดาวตกจากไฟหน้ารถบนท้องถนนสวนไปมาอย่างช้าๆและนุ่มนวล แสงสุดท้ายจากพระอาทิตย์ฉายขึ้นมาจากขอบภูเขาให้เห็นเป็นสีแดงระเรื่อ ฟ้าสีม่วงแดงอำพันกำลังเปลี่ยนเป็นสีดำทีละน้อยๆไม่รู้ว่าภาพนี้จะได้เห็นอีกเมื่อไร พวกผมแข่งกันถ่ายกับเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จดจำภาพผ่านม่านสายตา ซึ่งผมยังเชื่อว่าสายตาคือกล้องที่บันทึกภาพได้สวยงามที่สุด …ผมได้หลับตาลงแล้วจดจำภาพนั้น ท่องไว้ให้รู้ว่านี่คือ สวรรค์ที่ชื่อว่าลาซา

ค่ำคืนนี้ มีแสงไฟ อยู่เป็นเพื่อน ภาพมุมบนจากดาดฟ้า ถ่ายไปยังบ้านที่อยู่ละแวกนี้ครับ

สงบ และงดงาม

Day4(30/7/2555) : Gandem Monastery – Sera Monastery

                เมื่อคืนแอบมึนหัวเล็กก่อนนอน ซัดพาราไปสองเม็ดจึงเริ่มดีขึ้น เช้านี้แจ่มใสจริงเน้อ วันที่สองที่ต้องลุ้นกับอาหารเช้า วันนี้จะเป็นอย่างไรบ้างนะ หวังว่าเปลี่ยนวันเมนูอาหารจะเปลี่ยนบ้าง พอได้ไปสอดส่องอาหารหนึ่งรอบก็ไดรู้ว่า มันเหมือนเดิมเลย ไม่น่ากินสักนิด กรอกท้องให้อิ่มกินเหมือนเดิมดีกว่า งัดไข่เค็มที่พี่เจเตรียมมา มากินกับข้าวต้ม หมูหวานสักนิดพอได้ที่ อิ่มพอดีกับอาหารเช้า เตรียมตัวเตรียมใจไป Ganden Monastery ลุยโลดดดดดคร๊าบบบบ

                ใช้เวลาเดินทางจากลาซาออกไปนอกเมืองใช้เวลาไปประมาณสองชั่วโมง วนขึ้นเขาสูงอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงไปถึงที่วัด ระหว่างทางก็มีวิวงามๆให้ได้ดูตลอด บ้านของคนทิเบตส่วนใหญ่จะมีสองชั้น โดยชั้นล่างใช้ทำอาหาร เลี้ยงสัตว์และขายของ ส่วนชั้นบนมีเพื่อพักผ่อนหลับนอนเท่านั้น ดาดฟ้าของทุกบ้านก็จะมีธงภาวนาทั้งปักทั้งเสียบ ทั้งพันทั้งร้อยอยู่แทบทุกบ้าน สีสดบ้างจางบ้างตามกาลเวลา ตามท้องทุ่งทางเดินก็ยังเห็นคนทิเบตเดินถือกงล้อ คล้องลูกประคำ ติดไม้ติดมือคนละชิ้นสองชิ้น บ้างก็นั่งตากแดดสวดภาวนาไปเรื่อย บ้างก็พิงประตูนับเม็ดลูกประคำไปด้วย จะว่าไปมันก็วนมาที่ศรัทธาความเชื่อของคนทิเบตครับที่ยังคงฝังลึกอยู่ในชีวิตประจำวันของคนที่นี่แทบทุกอณูของลมหายใจ

ทางผ่านมาก็ยังน่าพิศมัย

                เช้านี้ถ่ายรูปได้มากขึ้น เพราะออกมานอกเมือง ตำรวจทหารน้อยกว่าเยอะ ไกด์จอดให้บางจุด เพื่อถ่ายรูปวิวบ้าง จามรีบ้าง คิดว่าคงทนพวกผมโวยวายกันในรถไม่ไหว เพราะจังหวะที่ขับรถผ่านเส้นทางซิกแซ็กคดเคี้ยวของภูเขา เสียงชัตเตอร์ก็ดังรัวๆบ่งบอกว่ากรูอยากได้ภาพมากๆๆ อีกอย่างมันคือสัญญาณบ่งบอกว่าพวกผมเริ่มปรับตัวได้กับออกซิเจนระดับนี้แล้ว ฮิฮิ…ลุยโลด แชะๆๆ

ขึ้นเขาไปเกนเด็มกันคร๊าบบบ

หยุดเก็บภาพก่อนเข้าไปเดินรอบเขาครับ ^^

                พอมาถึง Ganden ก็เริ่มเดินรอบเขากันเลย เพื่อทำKora ทีแรกไกด์เรียกว่าHiking ถึงกับตกใจ เพราะพวกผมทำได้แค่เดิน ปีนไม่เป็นเด้อ พอเริ่มออกเดินเท่านั้นเหนื่อยนรกเลย แค่บันไดสิบขั้นทำเอาหอบไปตามๆกัน ด้วยเหตุนี้มั๊ย ไกด์เลยเรียกว่าHiking ขนาดพยายามเคลื่อนไหวให้ช้าที่สุดแล้วนะ ก้าว…ย่าง…ก้าว…เพียงยี่สิบกว่าขั้นเท่านั้นพวกผมก็ไปนั่งพักหายใจฟืดฟาดกัน ส่วนพี่เจหญิงสาวคนเดียวของกลุ่มก็คว้าออกซิเจนกระป๋องมาลองใช้สักที เจ๊บอกไม่ไหวแล้ว ขอใช้สักที บีบแล้วหายใจช้าๆ เห็นว่ารู้สึกหายเหนื่อยทันตาเห็นเลย ขนาดพวกผมปรับตัวกันมาแล้วหลายวันแล้วนะครับ ยังเหนื่อยหอบซะขนาดนี้ ดีนะที่ไม่ใช่โปรแกรมวันแรก(เกร็ดความรู้: จริงๆการใช้กระป๋องออกซิเจน ผมจะไม่ให้ใช้ในช่วงแรกๆที่กำลังปรับสภาพร่างกายนะ เพราะถ้าใช้ร่างกายจะไม่ปรับ อาการจะทรุดได้ง่าย แต่อย่างกรณีพี่เจซึ่งอยู่ลาซามาแล้วสามวัน ผมเลยไม่ห้าม สามารถใช้ได้เลยครับ) ความสูงของอารามแกนเด็ม ประมาณ 4500เมตรเหนือระดับน้ำทะเลครับ ส่วนลาซาเฉลี่ยอยู่ที่ 3500 เมตร โอ้ว…ถึงว่าทำไมพวกผมเหนื่อยกันจัง ออกซิเจนเบาบางซะขนาดนี้สินะ กรูถึงเหนื่อย แล้วพวกผมก็เดินต่อ ช่วงหลังเหนื่อยเริ่มชินมากขึ้น เส้นทางขึ้นลงเล็กน้อย พอทำให้หายเหนื่อยบ้าง ที่สำคัญ สิ่งที่ทำให้หายเหนื่อยได้มากที่สุด คือ บรรยากาศรอบๆเขานี้

ธงภาวนา ขอให้ลมที่พัดนำพาบทสวดไปให้ถึงเบื้องบนที

เดินKoraรอบเขา

พืชพรรณตามโขดหิน สวยดีครับ

                พวกผมเดินรอบอารามไปทางด้านหลัง ได้มีโอกาสเห็นหุบเขาด้านหลัง ซึ่งมีความสวยงามมาก ผมแทบจะต้องหยุดทุกฝีก้าว ถ่ายวิวพลาง ถ่ายคนพลาง ฟ้าพอเป็นใจแง้มเปิดก้อนเมฆเล็กน้อยให้เห็นสีฟ้าอยู่บ้าง มันเป็นที่ราบใหญ่ครับ มีรอยกัดเซาะตามเขา มีแก่งเกาะอยู่ด้านล้าง ทั้งแอ่งน้ำเวิ้งน้ำหลายเวิ้งพันกันไปหมดจนเดาไม่ถูกว่าน้ำไหลไปทางไหน ที่ราบที่เพาะปลูกได้ก็เพาะพืชพรรณสีเขียวสีเหลืองสลับกันไป ภูเขาที่ยกมาโอบล้อมรอบๆเขียวชอุ่มไปทั้งหมด ผมว่านิวซีแลนด์ที่ผมเคยไปมานั้นสวยมากแล้วนะครับ แต่ที่นี่สวยกว่าเยอะมาก เดี๋ยวจะหาว่าไปDiscredit นิวซีแลนด์ แต่นิวซีแลนด์(ผมก็ยังชอบอยู่และอยากกลับไปเที่ยวอีก) ไม่เหนื่อย กินง่าย เข้าประเทศง่าย สะอาด และปราศจากเชื้อ นี่ล่ะข้อดีที่ชนะขาดลอย กลับมาชื่นชมทัศนียภาพของทิเบตต่อ มันก็สวยจริงๆอย่างที่ได้กล่าวไว้ ทำให้ไม่นึกเสียดายสักนิดที่ตัดโปรแกรมเข้า Norbulingka ออกไป การเดินชิลด์ๆหายใจหอบรอบเขาในท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสสัมผัสอย่างพวกผม กรูมาถึงทิเบตแล้วโว้ยยยยยย ฮิ้ววววว

เก็บภาพใส่ตา และใส่กล้อง เหนื่อย และพอใจ

                บางยอดเขาก็จะมีคนเอาซากศพมาทิ้งเอาไว้ ไกด์ชี้ให้ดูว่าตำแหน่งเขานี้คนจะนำศพมาตั้งทิ้งไว้ให้นกแร้งสัตว์ป่ามาเก็บกิน การทำศพของคนทิเบตมีสามแบบครับ แบบแรกก็ Federal tomb ทำพิธีอย่างงดงาม แด่ผู้ทรงเกียรติต่างๆ ที่ได้เชยชมที่โปตาลา ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็จะทำกันสองแบบหลัง นั่นคือ Sky tomb แบบนี้ทิ้งไว้บนยอดเขาให้สัตว์มากิน โดยจะมียอดเขาเฉพาะที่ที่รู้กัน ไม่ใช่ว่าจะเอายอดไหนก็ได้นะครับ และสุดท้ายคือ River tomb ปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ ให้ชีวิตคืนสู่ชีวิต และทุกชีวิตกลับสู่ธรรมชาติ เพราะว่าหนึ่งชีวิตนั้นมีค่า เมื่อหนึ่งชีวิตมอบให้คนอื่นได้หลายชีวิต นั่นคือชีวิตนั้นตายอย่างมีค่า คนทิเบตจึงนิยมบริโภคสัตว์ใหญ่อย่างเช่น จามรี หมู และวัว และคนทิเบตจะไม่กินสัตว์ในน้ำทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา เพราะหนึ่งชีวิตที่เสียไปไม่เพียงพอกับชีวิตอื่นๆ อาหารของที่นี่จึงไม่สามารถพบเห็นสัตว์น้ำวางขายมีให้กินได้ทั่วไป นับว่าเป็นแนวคิดที่น่าประหลาดใจมากของคนที่นี่ และน่าสนใจไม่น้อยเมื่อได้มาสัมผัสของจริงครับ

สุขอื่นใดของคนทิเบตไม่เท่าศรัทธาที่เชื่อมั่น

                เดินด้านนอกใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงได้ ก็เดินดูอะไรเล็กๆน้อยๆในอารามด้านใน เก็บบรรยากาศจนอิ่มเอม ท้องก็เริ่มร้องหิวโหยอยากอาหารเที่ยง ประกอบกับเวลาที่เหมาะสม งั้นก็ไปกินกันเถอะ ไกด์พาเดินลัดเลาะไปยังทางออก แล้วให้กินร้านอาหารที่แสนจะlocalมากๆ ภาพแรกที่เดินเข้าไป ก็เจอะกับแมลงวันแมลงหวี่กกำลังบินเซิ้งกันรอบโต๊ะอาหารทั้งจับคู่ ฉายเดี่ยว และแปรอักษรกันเป็นกองทัพ ขยะเกลื่อนกลาดเต็มพื้นอาจจะเป็นศิลปะอะไรบางอย่างของที่นี่ คนทิเบตที่มาKoraนั่งกินอาหารซดน้ำซุปกันอย่างเมามัน ซ่วบๆ พวกผมเดินไปเลือกเมนูอาหารที่เป็นผักซะส่วนใหญ่ เนื่องจากว่าไกด์กลัวอาหารสะอาดไม่พอ(เพราะเห็นพี่เจท้องเสียไปแล้วหนึ่งคน) จึงสั่งNoodleใส่เนื้อจามรีให้กินแทน และแล้วผมก็ไม่มีทางเลือกที่จะหลีกหนีจามรีอีกต่อไป เลยมานั่งสวดมนต์ภาวนาขอพรให้กินได้ ณ ตอนนั้นคงต้องเชื่อในศรัทธาบ้างแล้ว …เมื่ออาหารมาตั้งโต๊ะ เสียง ซ่วบๆแจ็บๆ เสียงซดผสมเคี้ยวดังขึ้นจากผมและหนุ่มนักชิมทั้งสาม ไม่นานชั่วอึดใจ ทุกคนก็สิ้นสุดบทสนทนากันสักครู่ …ตามด้วยสิ้นสุดเสียง ซ่วบๆแจ็บๆสักขณะกลั้นลมหายใจ …สบตากันแล้วพูดว่า เส้นไม่สุก ไม่อร่อย น้ำไม่ร้อน มีแต่เศษจามรี บลาๆๆ และแล้วเที่ยงนี้ทุกคนก็ถือศีลอดโดยพร้อมเพียงกัน งดการภาวนาใดๆทั้งสิ้นเพื่อประหยัดพลังงาน เสบียงขนมหวานที่พอมีก็แกะออกมาเพื่อเติมน้ำตาลในเลือดบ้าง M&Mถูกนำวางบนลิ้นอย่างประณีตเพราะกลัวจะหล่น ไม่กล้าที่จะโยนขึ้นฟ้ากระโดดงับเหมือนทุกครั้งไป ทุกเม็ดนี้มีค่าจริงๆ

เดินวนรอบแกนเด็มเล็กน้อย

สีสันสดใส

                ระหว่างรอไกด์กินเสร็จ นักชิมทั้งสามก็เริ่มวิจารณ์ถึงจุดเดือดของที่สูงระดับนี้ ที่ซึ่งมีผลต่อการสุกของเส้นนั่นเอง ส่วนผม นั่งฝั่งด้วยความโหยหา ฉันหิวๆๆๆ นึกในใจว่า พวกเมิงยังมีแรงวิจารณ์อะไรกันหรอ กรูหิวๆๆ พอไกด์กินเสร็จก็เดินออกมายิ้มให้พวกผม แล้วมองมาที่โต๊ะ คงตกใจไม่ใช่น้อย ที่ทุกถ้วยยังอุดมไปด้วยเส้นแป้ง และน้ำซุปควันลอยอยู่ครบทุกถ้วย แทบจะแก้ตัวไม่ทันเลยว่าน้ำมันไม่เดือดเส้นมันไม่สุก ไม่รู้ล่ะ กรูกินไม่ได้เฟร้ย

                ก่อนกลับก็บอกให้ไกด์ซื้อมันฝรั่งทอดที่ขายตรงทางขึ้นวัดมากินประทังชีวิต ก็ยังพอกินได้นะ กินๆมันเข้าไปก่อนจะหมดแรง ยังเหลืออีกวัดที่ต้องไปด้วยสิ สู้ๆคร๊าบบบ ขากลับนั่งสักพักก็ผล็อยหลับไปลืมแล้วซึ่งความหิว ตื่นมาอีกทีก็ถึง Sera Monastery วัดอารามแห่งนี้ภายในก็ไม่ต่างจากวัดหรืออารามอื่นมากนัก ความเก่าแก่ก็ไม่ได้แพ้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ที่นักท่องเที่ยวอยากผม และอีกร้อยกว่าคนที่ดั้นด้นมาที่วัดแห่งนี้ มาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือ มาดูพระลามะประลองวิชายุทธ์โต้ปัญหาธรรม ปุจฉา-วิสัชนา เพราะว่าวัดนี้เป็นวัดเดียวที่เปิดโอกาสให้เข้ามาชมได้ครับ มีแค่ตอนช่วงบ่ายสองบ่ายสามของทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์

พระลามะโตปริศนาธรรม ไม่รู้ว่าแสดงละครมั๊ย แต่ก็ดีใจที่ได้มีโอกาสเห็น

                จังหวะการถามตอบของลามะ ดูดุเดือดไม่ใช่น้อย พระลามะที่ถามจะยืนต้อนพระลามะอีกฝ่ายที่นั่งรอคำถาม หากตอบช้า ตอบไม่ได้ ทำท่าง่วงหลับ ลามะฝ่ายถามจะเหวี่ยงประคำ ง้างมือขึ้นฟ้าแล้วตบมือล้มมาเชือดเฉือนจนเกิดเสียงดัง ให้อีกฝ่ายตื่นจากภวังค์และตื่นตัวในการโต้ตอบการสนทนาธรรม พระลามะนับสิบคู่นั่งกลางลานกว้างแล้วโต้ตอบกันถึงพริกถึงขิง อย่าว่าแต่ผมไม่รู้เรื่องเลยครับ ไกด์ก็ฟังไม่รู้เรื่องเพราะเป็นภาษาหรือคำเฉพาะของลามะที่ได้มาศึกษา นั่งดูสงครามเก็บภาพกันพออิ่ม ก็ถอยทัพกลับเข้าเมืองลาซาทันที หาอะไรกินน่าจะดีกว่าหิ้วท้องถ่ายรูปแบบนี้

…ธรรมะทิเบต

เก็บไว้ในความทรงจำอิเล็กทรอนิกส์

                แต่ละคนสภาพสะบักสบอมหิ้วตัวเองกลับมายังโรงแรม นอนเอนตัวสักพัก คิดว่าเหนื่อยจังแล้วนิ นี่ขนาดตัดแต่งโปรแกรมแล้วนะ เย็นนี้กว่าจะได้กินก็สองทุ่มแน่ะ ได้จองการแสดงพร้อมอาหารเอาไว้ จะรอถึงตอนนั้นคงไม่ไหวเป็นแน่แท้ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง พวกผมนำโดยเฮียกับพี่แป๊บก็ลาดตระเวนหาร้านกาแฟในฝัน ที่มีคนบอกว่าอร่อยมาก ห้องน้ำสะอาดที่สุดในทิเบต เค้าว่ากันอย่างนั้น หน่วยลาดตระเวนชาวไทยห้าคนก็ออกจากโรงแรมเสาะแสวงหาร้านกาแฟด้วยความศรัทธาอีกครั้ง เดินไปเดินมา หลงซะงั้น ไม่รู้ว่าแผนที่ผิดหรือว่ามันย้ายร้าน ก็ได้ไกด์ของเราบอกทางผ่านโทรศัพท์ให้ พี่ท้องสองก็เดินรี่กันอย่างเมามัน ทิ้งผม เบิ้ม และพี่เจไว้ คลาดกันจนได้ สัญชาตญาณความหิวของผมก็เดินไปเรื่อย ตาเริ่มลอย แล้วบอกพี่เจว่า ถ้าไม่เจอใครก็หาอะไรกินแล้วเจอกันที่ที่พักแล้วกัน น้องหมดแรงคร๊าบบบบ สักพักก็เห็นคนโบกมือมาแต่ไกลจากเฮียกับพี่แป๊บทำสีหน้ายินดียิ่งกว่าการค้นพบขุมทองโกโบริ “เจอแล้วๆ มันอยู่ในนี้” พวกผมก็เดินรี่ตามเข้าไปอย่างไม่รั้งรอ

อยากใส่เสื้อตัวนี้มากกกก สวยคร๊าบบ แต่แพง

                Summit café จำชื่อเต็มไม่ได้ครับ ที่ตั้งอยู่หน้า Shambala hotel ไปหาดูแล้วกันถ้าใครอยากไป ต้องบอกก่อนว่า การที่ได้มาเจอร้านนี้เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ชั้นที่เหนือกว่าลาซาเลยล่ะ โอ้วววว เค้กอร่อยมาก ช็อกโกแล็ตใส่น้ำแข็งเย็นอร่อยมากมาย ทุกอย่างไร้กลิ่นจามรีทั้งสิ้นทั้งปวง ขอบคุณที่ฟ้ายังมีตากรุณาให้พวกผมได้กินอาหารมื้อนี้ เป็นครั้งแรกตั้งแต่มาทิเบตที่ผมสามารถยิ้มได้อย่างเต็มปากหลังจากกลืนลงคอไปแล้ว Oh my god! Yummy!

                อิ่มหนำกับอาหารมื้อบ่าย พวกผมก็เกิดความฉลาดขึ้นมาทันควัน คิดได้ว่าจะต้องซื้อเสบียงมาตุนไว้ในการเดินทางออกนอกเมืองในวันรุ่งขึ้น อาจจะไม่มีอะไรให้กินก็เป็นไปได้ ชีวิตผมต้องอยู่รอดให้ได้ จึงตัดสินใจหาซื้ออาหารที่ทำให้อิ่มท้องได้ นั่นก็คือ กล้วยหอม และซื้อผลไม้เจ้าถิ่นไปหน่อยไหนๆมาถึงแล้วก็ ลูกท้อ ไงครับ ส่วนของคาวเตรียมไปสะสมในตอนที่กินอาหารเช้าของโรงแรมครับ คิดว่าเท่านี้น่าจะพอยาไส้ละมั๊ง อยากจะบอกว่าด้วยอาหารการกินที่มันยากลำบากนัก ทำให้ลืมงานทุกสิ่งอย่างที่เมืองไทย วันๆคิดอยู่แค่ว่า จะกินอะไรดี จะทำยังไงให้อยู่รอดได้ว่ะเนี่ย >

ซื้อผลไม้กับน้องคนทิเบต ^^

แชะสักที ก่อนชทมการแสดงครับ สู้ว้อยยยย

                เย็นวันนี้กินอาหารบุฟเฟต์สไตล์ทิเบต ร่วมกับดูการแสดงระบำพื้นเมืองครับ กินได้แค่บางอย่าง กินให้มันอิ่มๆไปเท่านั้น ในที่สุดถึงขั้นต้องลองกินข้าวเปล่าผสมLassi(โยเกิร์ตของที่นี่) แหยะๆเปรี้ยวๆ เคี้ยวๆกลืนมันลงไป นั่งซดเบียร์ลาซาอ่อนๆล้างปากพอได้สบายคอบ้าง ได้พิงหลังนั่งฟังเพลงกระดิกเท้าดูระบำพื้นเมืองสบายจังครับ ปิดท้ายด้วยการเชิญแขกมาเต้น ^^ เหนื่อยมากครับวันนี้ กลับไปนอนหลับปุ๋ยเตรียมออกเดินทางวันต่อไปเลยดีกว่า

เวที คือ ที่ของผม ^^ ฮิฮิ

ความสุขเกิดที่เกิดขึ้น เมื่อปิดตานอน ทิเบตครับ

By Eun Junso : Tibetan story: Believing in BELIEF part II

Tags:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *