11-19 Apr 18 : Raja Ampat Diving

ย้อนกลับไป TDEX 2017 ระหว่างที่เดินอย่างไร้จุดหมายอยู่ในงาน ก็เจออั๋นและผองเพื่อนชวนไปราชาอัมพัต ตอนนั้นตอบไปอย่างรวดเร็วมากว่าคงไม่ได้ไป เพราะเพิ่งเฟลกับทริป EBC ที่ต้องทิ้งตั๋วเพราะติดงาน และอยู่ในช่วงแต่งบ้านต้องใช้จ่ายเยอะ อีกอย่างไม่อยากจองอะไรล่วงหน้าไว้นาน ความเสี่ยงมันเยอะขึ้นทุกปีๆ เอาไว้ใกล้ๆถ้าโชคชะตามันเข้าข้างก็คงจะได้ไป

ผ่านมาถึง Feb 2018 เป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดมาก งานเยอะ ช่างทิ้งงาน ปัญหารุมเร้า และรู้สึกว่าต้องพักแล้วหว่ะ ไม่งั้นกูบ้าแน่ นั่งเปิดรูปเก่าใน Facebook แล้วโพสต์ระลึกความหลัง ซึ่งรูปช่วงนั้นมันก็จะเป็นทริปดำน้ำซะส่วนใหญ่ มันคงจะไปเด้งใน Feed เพื่อนอั๋นเยอะอยู่ ก็เลยส่งมาชวนอีกรอบ และโชคชะตามันคงจะเข้าข้างเราจริงๆล่ะ เหลือ 1 ที่สุดท้ายสำหรับเรา ด้วยราคาที่น่าสนใจสำหรับทริปดำน้ำที่ราชาอัมพัต

ด้วยสภาพอารมณ์อันย่ำแย่ตอนนั้น ก็เลยตอบตกลงไปอย่างง่ายดาย มันเป็น Dream Destination ของเรามาแต่ช้านาน ได้ยินหลายคนพูดถึงความสมบูรณ์อย่างที่สุดของปะการังในแถบนั้น ก็หวังว่าในชีวิตนี้จะได้ไปดำน้ำสักครั้ง

.. แล้วฉันก็จะได้ไปดำจริงๆแล้วสินะ ตื่นเต้นจุง

 

ราชาอัมพัต (Raja Ampat) เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ อยู่แถบ West Papua โซนขวาสุดของประเทศอินโดนีเซีย ปกติจะต้องเดินทาง  3 flights (Bangkok-Jakarta-Makassar-Sorong) แต่บังเอิญช่วงที่จอง Garuda เพิ่งเปิดบินตรง Jakarta-Sorong สดๆร้อนๆ ขาไปก็เลยได้เดินทางแบบไม่ต้องเหนื่อยร่างกายมาก ส่วนขากลับเวลาไม่อำนวยก็เลยต้องบินกลับแบบ 3 flights เหมือนเดิม

 

แผนการเที่ยว

   11 Apr - Bangkok -> Jakarta -> Sorong (Garuda)
   12 Apr - Check-in MV Temukira | Check dive #1
13-16 Apr - 3 Dives ( 7:30/11:00/15:00 )
            | 1 Night Dive (19:00)
   17 Apr - 2 Last dives #18 #19
   18 Apr - Check-out MV Temukira
            | Sorong -> Makassar -> Jakarta (Garuda)
            | 1 Night at CGK Airport
   19 Apr - Jakarta -> Bangkok (Thai Lion Air)

ทริปนี้ไม่ได้แวะเที่ยวไหน เดินทางไปดำน้ำแล้วก็เดินทางกลับ แต่จะเสียเวลาเดินทางเยอะหน่อย เพราะต้องต่อหลายเที่ยวบิน และเวลาไม่ค่อยจะลงตัวเสียเท่าไร

 

MV Temukira

เป็นเรือ Liveaboard ขนาดเล็ก สำหรับ 12 คน มี 6 ห้อง  เป็น bunk bed 4 ห้อง และ double bed 2 ห้อง มีห้องน้ำในตัวทุกห้อง มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอต่อการใช้ชีวิตอยู่ มี saloon มี deck แม้จะเป็นเรือลำเล็กแต่สามารถ Utilize พื้นที่ในเรือทุกตารางนิ้วได้คุ้มค่ามากๆ

ดูรายละเอียดและรูปได้จากที่นี่
https://travel.padi.com/liveaboard/indonesia/temukira

** Raja Ampat is not really about rare critters or seeing sharks, there are generally not as many of what one would call – classic critters or big marine life. What is so special about this area is the scenery and in places the abundance of fish life. 🙂

 

ชีวิตดำน้ำ

ชีวิตดำน้ำที่นี่ก็เหมือนกับในไทย ดำวันละ 4 ไดฟ์  7:30/11:00/15:00/19:00 แต่ที่นี่ดำกันบ้าระห่ำมากกก น้ำแรง ดำลึก ดำนาน ขึ้นจากน้ำมาอากาศเหลือโซนแดงตลอด no decom time ไม่ต้องพูดถึง ใช้คุ้มจนนาทีสุดท้ายเกือบทุกไดฟ์ ไดฟ์นึงดำเกินชั่วโมงซะส่วนใหญ่ แถมต้องเสียเวลานั่ง dinghy ไปกลับทุกไดฟ์ ทำให้เวลาพักน้ำแต่ละไดฟ์เหลือน้อยนิดเหลือเกิน ดำเสร็จขึ้นมาแต่งตัวกินข้าว จด logbook เงยมองนาฬิกาอีกที อ้าว.. ต้องลงน้ำอีกแล้วยังไม่ได้นอนพักเลย หนังสือที่เตรียมไปอ่านนี่ไม่ต้องพูดถึงตอนมาอยู่ยังไงตอนกลับก็อยู่อย่างนั้นไม่ได้อ่านเลย ><

รูปแบบการดำน้ำของที่นี่จะแบกถังนั่ง dinghy ไปที่จุดปล่อยตัว  dive lead จะนับ 1-2-3 แล้วก็ backroll พร้อมกันทั้งลำ ตีลังกาแป๊บเดียวโผล่ขึ้นมาผิวน้ำอีกที dinghy ก็หายไปแล้ว รวดเร็วมากๆ

ไดฟ์ไซท์ที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็น drift dive ดำไปตามกระแสน้ำ และกระแสเปลี่ยนทิศรวดเร็ว บางทีดำต้านน้ำอยู่ พอกลับตัวไปทางเดิม แม่มก็ยังต้านอยู่ หอบแฮ่ก อากาศแทบหมดแทงค์ บางจุดน้ำแรงมากก็ต้อง negative backroll ปล่อยอากาศให้หมด BCD แล้วลงไปเจอกันข้างล่างเลย เอาจริงๆดำทั้งหมด 19 dive เจอน้ำนิ่งน้ำใสดำพริ้วๆชิลๆ แค่ 2 ไดฟ์เองมั้ง ที่เหลือก็ตีขาเกาะหินกันรัวๆ

ทริปนี้มีได้แวะขึ้นจุดชมวิวที่ Piaynemo, Fam Island เป็นจุดชมวิวที่คนที่มาดำน้ำราชาอัมพัตต้องแวะมา  กับขึ้นเกาะรีสอร์ทของเจ้าของเรือ ก็ได้เปลี่ยนบรรยากาศขึ้นมาบนดินบ้าง

จุดเด่นของราชาอัมพัต ไม่ใช่สัตว์ใหญ่ แต่เป็นความสมบูรณ์อย่างที่สุดของผืนปะการัง ที่มีความหลากหลายของรูปทรง สีสัน และชนิด ทั้งปะการังแข็งและปะการังอ่อน รวมไปถึงกัลปังหา พัดทะเล แส้ทะเล ฟองน้ำ มีครบทุกชนิด คือมันสมบูรณ์และหนาแน่นมากๆ

จะถ่ายรูปแต่ละทีก็ยากมาก เพราะมีปะการังทุกจุด หาที่แลนดิ้งแทบไม่ได้ ต้องลอยตัวถ่ายกลางน้ำ น้ำก็ไม่ใช่นิ่งๆ ก็จะถ่ายลำบากอยู่ไม่น้อย

พอมีแนวปะการังที่สมบูรณ์ ก็จะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์เล็กสัตว์แรกเกิด ทำให้เจอพวก Juvenile เยอะมากๆ ดูเพลินเลยจริงๆ

 

ค่าใช้จ่าย

เห็นราคาไม่ต้องตกใจ อันนี้ถือว่าถูกมากแล้วสำหรับทริปไปราชาอัมพัต ที่ไม่ค่อยเห็นคนมาดำที่นี่สักเท่าไร ส่วนหนึ่งก็มาจากราคาอันสุดโหดนี่ล่ะ โดยทั่วไปทริปราชาอัมพัต 7 วัน เริ่มต้นก็จะอยู่ประมาณ $2,100  อันนี้จองทริปแบบฉุกละหุกแถมได้ราคานี้มา เราก็โอเคล่ะ ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้ไปดำน้ำสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าปะการังสมบูรณ์และหลากหลายเป็นอันดับต้นๆของโลก จุดดำน้ำที่เป็น Dream Destination ของฉัน 🙂

 

รวมรูปทริปราชาอัมพัต

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.10155543936093806.1073741902.528018805&type=1&l=f3e73a0b74

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.10155545362873806.1073741903.528018805&type=1&l=8ea124c902

 

ธีรเดช ณ ดินแดนที่ปะการังหนาแน่นกว่าปลา