เดือนพฤษภาคมผ่านมาอีกหน อายุของ blog แห่งนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี จนถึงปีนี้ ครบรอบ 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ พอดิบพอดี
เป็นทศวรรษแห่งการเรียนรู้
เป็นทศวรรษแห่งห้วงความคิด
และเป็นทศวรรษแห่งการเติบโต
นิสัยการจดบันทึกของผมเริ่มมาจากคาบเรียนวิชาภาษาไทยตอน ม.1 (1997) อาจารย์บอกว่าการจด diary มันก็เหมือนการทบทวนชีวิตตัวเอง เป็นการบันทึกความคิดของตัวเองตอนนั้น แล้วเมื่อโตขึ้นไปได้ย้อนกลับมาอ่าน จะเห็นว่าความคิดเปลี่ยนไปอย่างไร ได้เห็นว่าเราโตขึ้นขนาดไหน มันก็เหมือนจดหมายเหตุทางความคิดนั่นแล และสักวันหนึ่งเธอจะเห็นว่ามันมีคุณค่าทางจิตใจมากมายเพียงไร
หลังจากนั้นผมก็พยายามเขียน diary ให้ได้ทุกวัน แต่เขียนไปได้ไม่นานก็รู้สึกว่า มันก็เป็นเรื่องเดิมๆ เป็นชีวิตประจำวันที่คิดว่าสิบปีข้างหน้ากลับมาอ่าน ก็คงไม่มีอะไรน่าสนใจหรอก
ผมจึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเขียนเป็นบันทึกแทน ผมมีสมุดเล่มหนึ่งเก็บไว้ใต้ลิ้นชักหัวเตียง เป็นสมุดที่ผมจะหยิบมาเขียนเมื่อมีความทุกข์ เมื่อผมเสียใจ เมื่อผมต้องการใครสักคนที่รับฟัง และทุกหน้าจะมีหยดน้ำตาเป็นลายเซ็นไว้เสมอ มันคือสมุดบันทึกแห่งความทุกข์เล่มพองๆเล่มหนึ่ง หลายคนคงมีคำถามว่าความทุกข์จะจดไว้ทำไม ลืมๆมันไปซะดีกว่า ผมว่าความทุกข์พวกนี้มันเป็นบทเรียนชั้นเลิศเลยนะครับ ระหว่างที่เราเขียนอยู่มันก็ช่วยทำให้เราฉุกคิดอะไรได้หลายๆอย่าง ความคิดมันไวกว่าการจดบันทึกเยอะ ช่วงเวลาที่เราใช้กลั่นกรองความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ มันก็มีเวลามากพอที่ทำให้เราได้คิดทบทวนเรื่องราวให้รอบคอบ และทุกครั้งที่เราย้อนกลับมาอ่าน บางทีมันก็อาจกลายเป็นเรื่องตลกแล้วก็ได้ ผมอยากให้ลองดู
ผมเขียนสมุดเล่มนั้นจนมาถึงเข้ามหาวิทยาลัย (2003) ช่วงนั้นมี weblog เกิดขึ้นมากมาย ผมจึงอยากลองย้ายมาเขียนในคอมพ์บ้าง สมัครของ Windows Live Spaces – http://thee98.spaces.live.com ไป (2005) เพราะคิดว่าสะดวกดี และมีสังคมนักเขียนอยู่ในนั้น เราเขียนของเรา คนอื่นเข้ามาอ่านได้ แล้วเราก็ไปอ่านของเค้าได้ กลับมาบ้านทุกเย็นก็จะมานั่งอ่านเรื่องราวที่คนอื่นเขียน โคตรมีความสุขเลยจริงๆ ผมได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่าน blog คนอื่นเยอะมาก มันเรียลมาก ผมยังเสียใจจนถึงทุกวันนี้ทีสังคมแบบนี้ไม่มีอีกแล้วในโลกออนไลน์ (บันทึกแรกของผม : 22 April 2005 ก่อนขึ้นค่าย…)
รูปแบบของ blog นี้ก็ปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องราวทั่วไป เป็นไลฟ์สไตล์ไม่เน้นวิชาการ แต่หนักเรื่องของความคิดสักหน่อย เขียนไปได้สักปีกว่าๆก็รู้สึกว่ามันช้ามากกกกก (เครื่องคอมพ์ที่บ้านช้าด้วยแหละ -.-“) ก็เลยลองย้ายไปอยู่ที่ exteen – http://thee98.exteen.com (2006) แต่ก็โดนกระแสเพื่อนๆใน spaces live ลากกลับมาจนได้
ท่ามกลางสังคมออนไลน์ยุคใหม่ที่ผุดขึ้นมาทั้ง Facebook และ Twitter ที่เน้นจุดขายในการแสดงตัวตน “ไม่ต้องร่ายยาว ก็โพสต์ได้” “160 คำ คิดอะไร รู้สึกอะไร ก็จิ้มๆไปเหอะ” ทำให้สังคมนักเขียนค่อยๆจางหายไป ถูกถ่ายโอนไปสู่สิ่งที่ง่ายและสะดวกกว่า จนในที่สุด spaces live ได้ปิดลงตัว ณ วันที่ 16 มีนาคม 2011
บันทึกทุกอันถูกโอนไปอยู่ที่ WordPress.com – http://thee98.wordpress.com (2011) ก็เลยคิดว่าในเมื่อเราได้ Database ทั้งหมดมาอยู่ในมือแล้ว ทำไมเราไม่สร้าง weblog ของตัวเองเลยล่ะ ก็เลยจดโดเมน theeradej.com ขึ้นมา และเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เชียวแหละ ฮ่าๆ
หลังจากนั้นก็สถิตย์อยู่ที่ theeradej.com มาจนถึงทุกวันนี้ 🙂
ผ่านไป 10 ปี กับ 362 โพสต์ที่บันทึกไว้ เมื่อเทียบกับระยะเวลาก็ดูน้อยแหละ (เฉลี่ยประมาณ 10 วันต่อ 1 โพสต์) ถ้าเทียบกราฟการผลิต blog ออกมาเทียบกับระยะเวลา กราฟคงเป็นระฆังคว่ำครึ่งซีก ที่ปลายหางดิ่งลงเข้าใกล้ศูนย์
บอกตรงๆว่าไม่รู้จะเขียนอะไร หรือบางทีมีประเด็นอยากเขียน แต่ก็เขียนไม่ออกเลยครับ มันไม่มีอารมณ์ที่จะเรียบเรียงคำพูดออกมา
หากว่าฝืนเขียนฝืนนึกต่อไปก็จะปวดหัว มันกลายเป็นว่าไม่ได้กลั่นออกมาจากสุนทรียะ มันก็ออกมาไม่ดีหรอก
เหตุผลแวดล้อมที่พอนึกออก คือ feedback นี่ล่ะ.. ก่อนหน้าตอนอยู่ที่ spaces live มันเป็นสังคมมันเห็นชัดเจนว่ามีคนมาอ่านแล้วกี่คน มีคนมาคอมเมนท์ มีการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน พอมาตอนนี้โพสต์ไปน้อยคนนักที่จะเปิดเข้ามาอ่าน เค้าไม่มาสนใจไลฟ์สไตล์อะไรของคุณแล้ว ลำพังแค่อ่าน news feed ก็หมดเวลาชีวิตล่ะ คำพูดสวยหรูที่บอกว่า ผมก็เขียนของผมไป ใครมาอ่านหรือไม่มาอ่านก็ช่าง ในความเป็นจริงมันก็อาจจะไม่ได้ดูแข็งแกร่งหนักแน่นในคำพูดได้อย่างนั้นตลอด เมื่อมีคนเขียน ก็ต้องมีคนเสพ เกื้อหนุนกันไป เป็น eco-system กันไป ก็พูดตรงๆว่าพอคนเข้ามาอ่านน้อยลง บางทีก็หมดพลังในการเขียนอยู่เหมือนกัน
เขียนมาจนถึงตอนนี้.. ผ่านไป 10 ปี ได้กลับมาอ่านในสิ่งที่ได้ลงแรงเขียนไป มันก็เป็นจริงตามที่อาจารย์เคยบอกกับผมไว้ตอน ม.1 ..
“..เธอจะเห็นว่าความคิดเธอเปลี่ยนไปอย่างไร
เธอจะเห็นว่าเธอเติบโตขึ้นมามากมายเท่าไร
และเธอจะได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจต่อเธอมากมายจริงๆ..”
ธีรเดช ณ ห้วงความคิด ความทรงจำ และการเติบโต