เดินทางไปสวนโมกข์ (19 เมษายน 2557)
หลังจากผ่าน 15 วันมา ก็มีบางส่วนสึกไปก่อน เหลืออยู่ประมาณ 35 รูป ก็เหงาหงอยเศร้าสร้อยกันไป และมีโอกาสได้ไปเข้าคอร์สอานาปานสติที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งหมด 8 วัน ก็ได้ประสบการณ์ล้ำค่าไม่มีวันลืมมากมาย แต่กว่าจะได้ไปเลือดตาแทบกระเด็น สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้จาก 15-30 Apr 2014 : บันทึกสวนโมกข์
การเดินทางไปสวนโมกข์ นั่งรถไฟจากสถานีบางซื่อไปลงสถานีไชยา แล้วเหมาสองแถวราคา 250 บาท ไปส่งที่หน้าสวนโมกข์เลย ไปถึงก็ติดต่อประชาสัมพันธ์ แสดงเอกสารส่งตัวจากวัดชลประทานฯ แล้วก็ถูกส่งไปยังค่ายลูกเสือ(ค่ายธรรมบุตร) ทันที เนื่องจากมาเข้าค่ายอย่างกระทันหัน ในช่วงแรกจะยังไม่มีพระอาจารย์มาประจำ จะมีท่านสนิทคอยดูแลพวกเราไปก่อน
ความรู้สึกแรกที่ได้เข้าไปในค่าย โอ้ววว.. มันดิบได้ใจมาก อยู่ในป่าขนาดนี้เลย เคยมีใครมาอยู่บ้างหรือเปล่า ทำไมมันร้างขนาดนี้ และเมื่อได้เห็นสภาพกุฏิ ผมก็อึ้งเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่เมื่อหันไปมองเพื่อนๆ เห็นสีหน้าหลายคนก็เริ่มถอดใจ ผมก็เข้าใจนะ ก็คงไม่คิดว่าจะขนาดนี้ล่ะมั้ง ก็รู้สึกลำบากใจเล็กน้อย เพราะเป็นแกนนำของทริปนี้ แต่ก็เอาวะ เราตั้งใจมาปฏิบัติกันถึงที่นี่ ครั้งหนึ่งในชีวิตก็ต้องลุยกันให้ถึงที่สุด ว่าแล้วก็ขนของเข้ากุฏิ ทำความสะอาด กางมุ้ง ขึงราวตากผ้า แล้วก็แยกย้ายกันพักผ่อน
ช่วงบ่ายท่านสนิทเรียกรวมตัวปฐมนิเทศต้อนรับเข้าค่าย ระยะเวลาการเข้าค่าย 5 วันเต็ม ระหว่างนั้นห้ามออกจากบริเวณค่าย จะออกไปได้เฉพาะตอนไปบิณฑบาตตอนเช้า และตอนไปรับน้ำปานะตอนเย็น ชีวิตในค่ายก็ตามตารางนี้เลยครับ
ถ้านับรวมๆแล้ววันนึงจะต้องฝึกสมาธิประมาณ 7 ชั่วโมงต่อวัน การฝึกจิตของสวนโมกข์จะใช้หลักอานาปานสติ คือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา แบ่งความละเอียดเป็น 16 ขั้น ในเบื้องต้นแค่ผ่าน 2 ขั้นแรกให้ได้ก็ยากอยู่ล่ะ รูปแบบการกำหนดลมหายใจจะเป็นการสลับการระหว่างการนั่งสมาธิและการเดินจงกรม นั่งแล้วเมื่อยแล้วง่วงก็เปลี่ยนมาเป็นอริยาบทการเดินแทน ไม่ว่าจะอริยาบทไหนเราก็สามารถกำหนดลมหายใจได้ทั้งสิ้น
ตั้งขันติและสติให้มั่น
สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหลักๆจะมีอยู่ 2 สิ่งคือ สภาพอากาศ และสัตว์ร่วมโลกน้อยใหญ่ทั้งหลาย เนื่องจากการปฏิบัติจะนั่งตามโคนต้นไม้ในลานทราย ก็อาศัยร่มเหงาจากใบไม้ ก็จะมีบ้างแดดจะลงถึงไม่มีแดดอากาศก็จะร้อนอบอ้าวอยู่ดี น้อยครั้งที่จะมีลมพัดผ่าน และพื้นที่นั้นก็จะมีแมลงน้อยใหญ่มากมาย รังมดแดง มดดำ มดง่าม มดคันไฟสารพัด ยุงป่า แมลงวัน แมลงกินเหงื่อ แมลงหวี่ แมลงตัวเล็กๆที่อยู่ตามต้นไทร หรือแม้แต่แมงป่องก็ยังมี ก็ต้องคอยระวังคอยปัด คอยสอดส่อง จบค่ายมาก็หนีไม่พ้นตุ่มเต็มตัว เยอะมาก ทรมานอยู่นะ ก็ต้องฝึกขันติไว้ แต่แล้วมันก็ทนได้ แล้วก็จบคอร์สมาได้
เนื่องจากในกุฏิไม่มีไฟฟ้าไม่มีแสงสว่าง พระทุกรูปจะได้รับตะเกียงรูปละชุดพร้อมเทียนสำหรับเป็นประทีป ไว้เดินทางในค่ายยามวิกาล ใช้สำหรับให้แสงสว่างตอนทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ส่วนตอนนั่งสมาธิกลางดึก หรือตอนนอนก็จะดับแสงลง เหลือไว้แต่แสงจันทร์ แสงดาว และตัวเรา
มันเป็นอะไรที่ฟุ้งซ่านมาก บางคนแค่อยู่ในห้องนอนของตัวเองปิดไฟกลางดึกก็คิดไปนู้นไปนี่ แต่นี่อยู่กลางป่า สถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ลมพัด ไม้ไหว มดเดิน ปลวกกิน สารพัดสิงสาราสัตว์อยู่รอบตัวไปหมด ยิ่งมีหิ่งห้อย (ที่นี่ตัวใหญ่มากกก) ส่งแสงกระพริบไปมาโผล่ตรงนี้บ้างตรงนู้นบ้าง ก็ยิ่งทำให้เตลิดไปไกล ตอนนอนเปิดหน้าต่างทั้งกุฏิให้อากาศถ่ายเท หัวก็ตรงกับหน้าต่าง เท้าก็ชี้ออกหน้าต่าง ลืมตามาก็จะมองทะลุออกไปนอกหน้าต่าง กลางคืนนอนๆอยู่ก็จะมีเสียงกรอบแกรบอยู่ข้างนอก บางทีก็ขึ้นบนหลังคา ตุ๊กแกร้องส่งเสียงดังตื่นมากลางดึกทุกคืน ลืมตามาก็เจอต้นไม้ไหวอยู่นอกหน้าต่าง บางคืนก็เจอหิ่งห้อยนี่ล่ะบินอยู่ในห้อง ก็ตกใจแต่พอมองไปสักพักก็รู้สึกงดงามมาก แรกๆนี่พยายามจะไม่ลืมตากลางดึกเพราะเกรงว่าลืมมาแล้วจะเห็นอะไรที่มันไม่ปกติตรงหน้า แต่หลังๆนี่ชักชินล่ะ
ทั้งหมดทั้งมวลนี่มันเป็นสิ่งที่จิตเราปรุงแต่งขึ้นมาเอง ปรุงแต่งขึ้นมาพร้อมกับสัญญาที่อยู่ติดตัวเรามา จึงทำให้เกิดภาพมโนต่างๆมากมาย ถ้าเราตัดสัญญาได้ ฝึกจิตให้มีสติ รู้พร้อม กำหนดรู้ตลอดว่าเราเป็นใคร เรากำลังทำอะไร เราอยู่ที่ไหน เราก็จะอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับความเป็นจริง ที่ไม่มีสิ่งปรุงแต่ง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบที่ผมได้ประสบมา ตามที่ได้บันทึกไว้ใน 15-30 Apr 2014 : บันทึกสวนโมกข์ วันที่ 23/4/57 ณ ข้างต้น
รูปแบบการบิณฑบาตและการฉัน
ที่สวนโมกข์จะฉันอาหารมื้อเดียว ตอนช่วงประมาณ 8 โมงเช้า ระหว่างวันก็ฉันได้เฉพาะน้ำเปล่า ส่วนช่วง 5 โมงเย็น จะมีน้ำปานะ ทั้งวันมีอาหารตกถึงท้องแค่นี้จริงๆนะ.. แรกๆก็ลุ้นอยู่ว่าไหวมั้ย โดยส่วนตัวคิดว่าไหว แต่ท่านอื่นๆนี่ สายแข็งสายโหดกันทั้งนั้นเลย แต่สุดท้ายทุกคนก็อยู่กันได้ โดยไม่จำเป็นต้องละเมิดระเบียบปฏิบัติเลย
รูปแบบของการบิณฑบาตระหว่างอยู่ในค่าย ก็เดินผ่านลุยป่า พื้นลูกรัง เศษปูน และมดมหาศาลไปที่โรงอาหาร อาหารจะถูกวางจัดเรียงไว้ ก็ค่อยๆเดินพิจารณาอาหารตักใส่บาตรรวมๆกันอยู่ในนั้น ของคาวของหวานรวมอยู่ในบาตร ก็ต้องจัดระบบดีๆ ตักเสร็จก็เดินกลับค่าย
ส่วนวันที่ออกจากค่ายแล้วก็จะไปรวมกันที่โรงฉัน ก็จะมีประเพณีตักบาตรแบบรถไฟ คือพระจะนั่งสองแถวหันหน้าเข้าหากันแล้วเลื่อนอาหารที่ตั้งไว้อยู่บนล้อเลื่อนส่งอาหารต่อมาเรื่อยๆ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของญาติโยมที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุไม่ต้องออกแรงขนของกันเยอะ เอาวางบนล้อเลื่อนที่เหลือพระจัดการเอง
และทุกวันเสาร์จะมีประเพณีตักบาตรสาธิต เพื่อสาธิตการตักบาตรตามที่มีมาในสมัยครั้งพุทธกาล โดยจะให้พระตักข้าวใส่บาตรแล้วนั่งเรียงกันที่ลานหินโค้ง จากนั้นให้ญาติโยมมาถวายอาหารโดยการตักอาหารที่เตรียมมาใส่บาตรทีละรูปๆ ของหวาน ของคาวก็จะตักรวมไว้ในบาตรอย่างนั้น ส่วนน้ำ นม และของแห้งก็จะวางไว้ในฝาบาตร เมื่อตักเสร็จก็จะอนุโมทนาทาน เทศน์ และให้ญาติโยมมาประเคน จากนั้นจึงค่อยเริ่มฉัน ตอนฉันนี่ต้องพิจารณาอาหารอย่างดีเลย เพราะอาหารทุกอย่างจะกองอยู่ในนั้น ซ้อนกันหลายเลเยอร์เลยทีเดียว
ครั้งนั้นได้แซนวิชมาเล็งไว้อยู่นานสุดท้ายก็ตักเสร็จก็กลบหายมิด แถมยังถูกราดด้วยแกงส้ม และสารพัดของผัด พอฉันใกล้หมดแล้วพบอยู่ด้านล่างไม่เหลือเค้าโครงของแซนวิชเลย กลายเป็นลาซานญ่าซะงั้น ก็ลองฉันดู มันก็รสชาติดีไปอีกแบบนะ ขนมปังทูน่าซอสมะเขือราดด้วยแกงส้ม ก็อยู่ได้ อิ่มได้ ไม่ท้องเสียแต่อย่างไร เพราะสุดท้ายยังไงมันก็ไปรวมกันในกระเพาะเราอยู่ดี..
“กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฎิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง”



หลังจบค่ายก็ได้ไปตามรอยท่านพุทธทาส ดูสถานที่เกิด ที่เรียน ที่บวช ดูสวนโมกข์ที่แรก สถานที่เก็บร่าง เผาร่าง และไปดูที่โปรยเถ้ากระดูก ที่เขาประสงค์ ก็ครบถ้วนและจบการเดินทางมายังสวนโมกข์ตามที่ได้ตั้งใจไว้..
ธีรเดช ณ ดินแดนที่ได้ประสบ ได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝน และเห็นได้ด้วยตนเอง
ปล. ภาพประกอบทั้งหลาย พอถ่ายออกมาแล้วมันจะดูดีกว่าสถานที่จริงเยอะมาก ไม่รู้จะปรับอย่างไรให้มันดูเหมือนที่จริง อย่างไรแล้วก็คล้อยตามคำบรรยายของผมหน่อยละกันนะครับ 🙂