วันเข้าวัด (31 มีนาคม 2557)
หลังจากเคลียร์งานเคลียร์ชีวิตเคลียร์บัตรเครดิตเคลียร์วันลาเรียบร้อย ก็ถึงเวลานับถอยหลัง ตามกำหนดจะต้องเข้าวัดก่อนหนึ่งวัน ซึ่งก็คือวันที่ 31 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 12:30 น. เพื่อนัดแนะถึงงานวันรุ่งขึ้น ก็ให้มานั่งเรียงหมายเลขภันเต (เรียงตามอายุ) ที่โรงเรียนพุทธธรรม
จากนั้นก็จับสลากแบ่งห้อง สรุปรอบนี้มีพระบวชใหม่ทั้งสิ้น 97 รูป (บวชพร้อมกันรอบแรก 95 รูป เพิ่มเติมรอบเก็บตกอีก 2 รูป) ถือว่าไม่มากนัก ก็จะมีบางส่วนได้นอนห้องเดี่ยวที่กุฏิ 63 ปี ส่วนที่เหลือก็จับคู่กันนอนอยู่ที่กุฏิสี่เหลี่ยม หลวงพ่อจะให้มายืนเป็นวงกลมข้างหน้าให้เห็นหน้ากัน แล้วก็บอกว่าใครสนใจชอบพอหรือถูกชะตากับคนไหนก็ไปจีบมานอนด้วยกันได้เลย (ฮาาา) ส่วนใหญ่ก็จะจับคู่ข้างๆกันนี่แหละครับ เพราะเลขภันเตติดกัน อายุใกล้เคียงกัน น่าจะจูนเข้ากันได้โดยง่าย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันเข้ากุฏิ ขนของขนสัมภาระต่างๆที่เตรียมกันมาเข้าห้องให้หมด แล้วก็ปลงผมกันตรงนั้นเลย ให้ญาติพี่น้องขลิบผมกันไป ขลิบให้สั้นที่สุด จากนั้นก็ให้พระพี่เลี้ยงโกนหัวให้อีกที หลวงพี่ถามว่ามีใฝ่มีสิวอะไรที่หัวหรือเปล่า ก็บอกไปว่า “ป๋มไม่รู้วววววว ><” แต่ก็จำได้เลาๆว่าตอนบวชเณรนี่โกนเสร็จเลือดอาบเลย หลวงพี่ก็เลยจัดหนักเลยครับ แคร๊วกกกๆ ครืดๆ โกนเสร็จปรากฏว่าเลือดอาบเลยจร้าา ไม่รู้ว่าตุ่มมาจากไหนเยอะแยะ เฉือนหลุดเรียบเนียนหมดเลย โกนเสร็จล้างหัวแล้วก็นั่งซับเลือดกันไป จุดนี้ขมิ้นก็คงเอาไม่อยู่ล่ะครับ
หลวงพ่อนัดให้ไปรวมตัวกันที่ลานหินโค้งเวลา 14:30 น. เพื่อซักซ้อมพิธีบวชในวันรุ่งขึ้น ช่วงเวลาซ้อมนี้หลวงพ่อจะให้ญาติๆตากล้องทั้งหลายกลับบ้านให้หมด จะได้ไม่ต้องมาวุ่นวายกัน จะได้ซ้อมพิธีได้คล่องตัวมากขึ้น
ซ้อมเสร็จก็กลับเข้ากุฏิจัดของ ทำความสะอาดห้อง อาบน้ำ แล้วมานัดรวมตัวที่สนามกลางกุฏิสี่เหลี่ยมตอนเย็นเพื่อทานอาหารเย็น ประชุมเล็กน้อย นัดแนะเวลากันสำหรับวันรุ่งขึ้นแล้วก็แยกย้ายกันไปนอน
ปัญหาใหญ่ของผมเลยล่ะ ปกติอยู่บ้านนอน ตี 3-4 มาอยู่วัดตอนตั้งแต่ 3 ทุ่ม.. ผลปรากฏว่า ก็นอนไม่หลับไงคร๊าบบบ!! อุตส่าห์นอนน้อยๆตื่นแต่เช้าแล้วนะ จะได้ง่วงๆ แต่กว่าจะหลับก็ปาไป 5 ทุ่ม ต้องตื่นตี 4
วันอุปสมบท (1 เมษายน 2557)
หลวงพ่อนัดรวมตัวกันตอนตี 5 เพื่อสอนวิธีห่มนาค กินข้าวเข้า แล้วก็ออกไปลานหินโค้งตอน 6 โมงเช้า แยกย้ายกันไปหาญาติพี่น้องขอขมาขออโหสิกรรมพ่อแม่ แล้วกลับมารวมทำพิธีบวชเณร จากนั้นก็จะแบ่งเป็น 3 ชุดเข้าอุโบสถเพื่อทำพิธีบวชพระ เนื่องจากตามพระวินัยกำหนดไว้ว่าการบวชพระต้องบวชในอุโบสถ และจะบวชพร้อมกันได้ไม่เกิน 3 รูป ผมอยู่ชุดที่สอง กำหนดเข้าอุโบสถหลังฉันเพล ฉันเพลนี่หลวงพ่อก็จะสั่งเป็นโต๊ะจากภัตตาคารมาเลย ส่วนของญาติโยมก็เปิดเป็นโรงทานให้ได้เลือกทานกันอย่างเหลือเฟือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็มาจากเงินที่ญาติโยมมาถวายนี่หล่ะ ช่วยเหลือกันไป มีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย ไม่มีก็ไม่ต้องให้
ช่วงเวลาที่ว่างจากการรอเข้าอุโบสถ ก็จะให้เราอยู่กับญาติๆถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และเข้าคลาสเรียนห่มจีวรและสอนทำพินทุเพื่อทำจุดตำหนิลงบนบริขารตามที่พระวินัยกำหนด
และระหว่างที่กำลังเรียนห่มจีวรอยู่นั้น ก็มีสายด่วนมาหาหลวงพี่ ได้ความว่า.. หวยออก 95 ตามจำนวนพระใหม่วันนี้เลย ฟังตอนแรกก็ไม่ได้เชื่อหรอกนะ จนกระทั่งหลวงพ่อมายืนยัน แล้วก็พูดติดตลกว่า เดี๋ยวต้องโดนญาติโยมด่าแน่ๆ เมื่อวานไปบอกว่าไม่ให้ซื้อ นี่ขนาดย้ำนักย้ำหนาว่าไม่ให้ซื้อ แต่ดูสิล็อตเตอรี่หน้าวัดก็หมดแผงอยู่ดี 🙂
ถึงเวลาเข้าอุโบสถชุดผมมีอยู่ 33 รูป รอบละ 3 รูป ใช้เวลารอบละประมาณ 20 นาที ทั้งหมด 11 รอบ รวมเวลาทั้งหมด 3 ชม. 40 นาที โดยประมาณ ผมเลขภันเต 33 ได้บวชเป็นรอบแรก ก็ต้องนั่งพับเพียบรอจนเสร็จพิธีอยู่ 3 ชมกว่าๆ ก็ถือว่าโหดมากแล้วสำหรับวันแรก… แต่แค่นี้มันเด็กๆ ><
เสร็จสิ้นพิธีก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ จัดการธุระส่วนตัว แล้วก็จำวัด
นั่งหินโค้งวันแรก (2 เมษายน 2557)
วันนี้ยังไม่ต้องบิณฑบาต เดินถือบาตรมานั่งหินโค้ง ให้ญาติโยมมาตักบาตรเช้ากัน วันนี้ก็จะเป็นวันแรกที่พ่อแม่จะได้มาตักบาตรลูกชาย และก็เป็นวันแรกในฐานะพระที่ต้องเปิดบาตรรอรับอาหารจากญาติโยม ต้องดำรงชีวิตสมณะด้วยอาศัยอาหารจากญาติโยม ก็รู้สึกแปลกๆเขินๆที่คนอื่นต้องมาไหว้เรา ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน เกรงว่าจะทำนู้นทำนี่ผิดแล้วจะดูไม่ดี ก็เลย
ต้องสำรวมนิ่งเงียบให้มากที่สุด รู้ตัวเลยว่าช่วงแรกนี่ หน้านิ่งตลอด ไม่มียิ้มหรืออมยิ้มต่อหน้าญาติโยมเลยแม้แต่น้อย
ช่วงแรกๆยังท่องอนุโมทนาทานไม่ค่อยได้ก็นั่งนิ่งๆหรือถ้าอยากมีไรทำก็บ่น ถั่วงาๆๆๆ ไปเรื่อยๆก็แก้เขินได้เหมือนกัน แต่สัก 2-3 วันก็เริ่มท่องได้ล่ะ ก็ทำให้การนั่งรับบาตรที่ลานหินโค้งดูสมบูรณ์แบบขึ้น
บิณฑบาตวันแรก (3 เมษายน 2557)
ได้อยู่สายหมู่บ้านสรานนท์ ตรงข้ามสวนกุหลาบนนท์ ระยะทางประมาณเกือบ 3 กิโล มีหลวงพี่ตุ่นเป็นเป็นพระพี่เลี้ยงนำสาย ลักษณะเส้นทางมีทั้งฟุตบาทและริมถนน ระหว่างทางจะต้องผ่านเช็คพ้อยท์มากมาย ทั้งข้ามถนน ฝ่าดงขี้นกกว่า 20ม. ลุยน้ำเน่า ข้ามสะพานลอย และด่านทรหดสุดท้ายคือ ลุยก้อนกรวดไหล่ทางอีก 200ม. ซึ่งด่านสุดท้ายนี่เป็นอะไรที่ทรหดสุดๆแล้ว ทุกคนผ่านวันแรกมาด้วยอาการเจ็บเท้าทั่วกัน ก็คิดว่าวันหลังเท้าจะด้านขึ้นแล้วจะเจ็บน้อยลง แต่ไม่ใช่เลย.. มันกลับระบมขึ้นเรื่อยๆ เจ็บแต่ก็ต้องลุย
รูปแบบการบิณฑ์ของสายนี้ ออกจากวัด 5:50 น. เดินเท้ามุ่งตรงไปที่หมู่บ้านสรานนท์เลย ถึงหมู่บ้านประมาณ 6:40 น. ชาวบ้านจะรวมตัวกันที่สวนในหมู่บ้าน ตักบาตรเสร็จ กรวดน้ำ อนุโมทนาทาน โยมจัดน้ำหวานถวาย ฉันน้ำเสร็จ โยมจะขับรถมาส่งที่วัด ถึงวัดประมาณ 6:50 น. เอาอาหารที่บิณฑ์ได้มารวมกัน แล้วพิจารณาอาหาร จากนั้นนั่งลานหินโค้งเพื่อรับบาตรจากญาติโยมต่อไป
อาการบาดเจ็บจากการบิณฑบาตก็มีอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่วันแรกเลยพอย่ำกรวด กรวดคมมันติดเท้า เราก็จะพยายามเอาฝ่าเท้ามาถูกับหลังเท้าบริเวณนิ้วโป้งของอีกข้างนึงในจังหวะที่กำลังก้าวเท้าเพื่อไม่ให้เสียจังหวะการเดิน (ไม่งั้นจะเดินไม่ทันรูปอื่น) ซึ่งจังหวะนั้นเอง ออกแรงมากไป เท้าก็เลยไปกระแทกโดนนิ้วโป้งที่ยกรอไว้อยู่อย่างเต็มแรง ทำให้เส้นเอ็นบริเวณนั้นอักเสบและบวม จนถึงขั้นที่ไม่สามารถออกแรงยกนิ้วโป้งได้เลย
ช่วงแรกๆก็เข้าไปในห้องยาในกุฏิเพื่อหายาตระกูล Diclofenac เพื่อลดอาการอักเสบ ได้เคาเตอร์เพนคูลมา ทาไปได้ประมาณ 3 วัน อาการไม่ดีขึ้นเลย เท้าบวมขึ้นชัดเจน นิ้วเริ่มยกไม่ขึ้น ก็เลยไปอ่านส่วนผสมทำให้รู้ว่าตัวยามีแค่ Menthol ไม่มี Diclofenac เลย.. ตอนนั้นเซ็งมาก เพราะระหว่างนั้นบิณฑบาตทนเจ็บมาโดยตลอด บังเอิญในรุ่นมีหมออยู่พอดี ก็เลยไปปรึกษาท่านชัยดู บอกว่า เส้นเอ็นอักเสบ อักเสบขั้นที่น้ำหล่อเลี้ยงมันแห้ง ทำให้เวลาฝืนยกนิ้วโป้งมันจะรู้สึก กึดๆๆๆ เหมือนมีอะไรแห้งๆขูดกันอยู่ (เหมือนสีซออ่ะ) ดังนั้นต้องพยายามงดใช้งาน อย่าไปฝืนยกนิ้ว ไม่งั้นจะยิ่งอักเสบ พอดีในห้องยามีสเปรย์ Indomethacin อยู่พอดี ก็เลยใช้ตัวนี้รักษาไปพลาง หลังจากนั้นตอนบิณฑ์เราก็ต้องยกขาไปทั้งท่อนเลย เดินเหมือนคนเข้าเฝือก แต่ก็ผ่านมาได้ กว่าจะหายสนิทก็ปาไปวันที่ 15 เมษาโน้นเลย (จริงๆที่วัดจะมีหมอเข้ามาตรวจทุกๆ 2 อาทิตย์ เราก็รอตรวจเหมือนกัน แต่บังเอิญช่วงนั้
นติดวันหยุด หมอก็เลยไม่มี)
นอกจากนี้ก็โดนเสี้ยนตำบ้างประปราย แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนคนในรุ่น เสี้ยนตำ แล้วไปลุยน้ำเน่าต่อ เท้าก็เลยบวมติดเชื้อ แล้วเชื้อดันเข้ากระแสเลือดอีก ก็เลยไปกันใหญ่ ต้องเข้าไปนอนโรงพยาบาลเลย โชคดีที่ได้หมอชัยเป็นธุระประสานงานกับหมอในโรงพยายาบาลให้ ก็เลยรักษาได้ทันท่วงที
ชีวิตในกุฏิสี่เหลี่ยม
ช่วงเวลาที่เป็นพระไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัวเท่าไร ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่กับตัวเอง หรือทบทวนบทเรียนเสียเท่าไร ตารางชีวิตค่อนข้างแน่น มีอะไรบ้างมาดูกัน
03:30 ตื่นนอน 04:00-05:00 ทำวัตรเช้า 05:50-07:00 บิณฑบาต 07:00-07:30 รับบาตรลานหินโค้ง 07:30-08:15 ฉันเช้าลานหินโค้ง 09:15-10:45 เรียนเช้า 11:00-12:00 ฉันเพลที่กุฏิ 12:00-13:30 ซักผ้า พักผ่อน 13:30-15:30 เรียนบ่าย 15:30-16:30 ทำวาระ 17:00-18:15 ประชุมเย็น 18:30-20:30 ทำวัตรเย็น 21:30 จำวัด
อย่างแรกเลย เวลานอนแค่ 6 ชม. ผมว่ามันอาจจะน้อยไปหน่อย พอนอนน้อยทุกอย่างมันก็รวนหมดเลย พอง่วงก็ต้องนอนกลางวัน เวลามันก็จะหายไปกับพวกนี้นี่ล่ะครับ หรือจะเป็นเฉพาะผมไม่รู้นะ โดยเฉพาะอ่านหนังสือนี่ ต้องมีสมาธิจริงๆจะอ่านได้ ง่วงนอนๆมาอ่านนี่ ไม่เข้าหัวเลย
วันอาทิตย์ไม่มีเรียน ก็ตั้งใจไว้ว่าจะเอาเวลามาจัดแจงชีวิต ทบทวนบทเรียน อ่านหนังสือบ้าง แต่ก็กลายเป็นว่าไม่ได้พัก ต้องไปเตรียมสถานที่จัดงานครบรอบ 1 ปีวันมรณภาพ พระธรรมวิมลโมลี ก็เลยกระทบไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็อ่านไม่จบสักเล่มเลย
ตอนแรกเตรียมสบู่ไปแค่ขวดเดียวคิดว่าอาบน้ำไม่เกินวันละ 2 ครั้งก็น่าจะพอหนึ่งเดือนพอดี แต่กลายเป็นว่าอากาศร้อนมาก ต้องอาบแทบทุกเบรกเลยทีเดียว บางวันถึงกับต้องอาบ เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน เลย ต้องบอกให้โยมแม่เอาสบู่มาเพิ่ม 🙂
อย่างอื่นนอกเหนือจากตารางก็คงเป็นการเสวนา ได้เรียนรู้ชีวิตของสหธรรมิกด้วยกัน ผมว่าการที่ได้มาบวชนี่ก็ได้ connection ไม่ต่างจากที่หลายๆคนต้องไปเรียนยูดังๆเลยครับ และการที่คนร้อยคนมารวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งที่ตั้งใจสิ่งเดียวกันนี่มันไม่ได้หาง่ายๆเลย อย่างน้อยๆ สึกออกไป เวลาผมอยากจะชวนใครไปวัดหรือทำบุญ ผมก็มีกลุ่มที่ผมจะเอ่ยปากชวนได้อย่างไม่ต้องตะขิดตะขวงใจว่าจะไปรบกวนพื้นที่ของเค้าหรือจะไปทำให้เค้าต้องลำบากใจ
ธีรเดช ณ ห้วงเวลาแห่งธรรม