“…ข้าพเจ้านายธีรเดช หงส์พิสุทธิกุล ได้บรรพชาอุปสมบท ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 เวลา 13.22 น. ได้นามฉายาว่า ฉนฺทธมฺโม แปลความว่า ผู้พอใจในธรรม โดยมี พระครูวิมลสุวรรณกร รองเจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด เจ้าอาวาสวัดกู้ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาหลอด รตนญาโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุรศักดิ์ ธนปาโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้ลาสิกขาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557…”
เมื่อจิตร่ำร้อง
ดังที่กล่าวไว้ในปณิธานปีใหม่ 2557 ผมมีความตั้งใจอยากบวชเรียนอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าตัวเองห่างหายจากธรรมะไปมากมายเหลือเกิน บางทีก็รู้สึกเคว้ง จิตไร้ที่ยึดเหนี่ยว ไม่เหมือนแต่ก่อน จิตแน่วแน่มากไม่ว่าจะมีอะไรมาผัสสะกับจิตจะนิ่งมากและสามารถคลายปัญหาได้ทันท่วงที
หลังจากที่รู้ตัวเองว่าอยากบวชเมื่อช่วงปลายปี 2556 ก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลเรื่อยมา ว่าจะบวชวัดไหนดี ถามเพื่อนๆพี่ๆน้องๆหลายคน สุดท้ายก็มาจบที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี เพราะเป็นการบวชแบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมาย ไม่ต้องมีแห่ ไม่ต้องมีงานเลี้ยง ไม่มีโปรยทาน ขอแค่มีอัฐบริขารครบถ้วนก็เพียงพอ และหลังจากบวชแล้วก็ไม่ได้อยู่ว่างๆสบายๆ มีตารางเรียนทั้งเช้าและบ่ายทุกวัน ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน ค่ำจำวัด ดึกสงัดซัดมาม่า” จะไม่มีทางได้สัมผัสที่วัดนี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัดอยู่ไม่ห่างจากบ้านมาก ที่บ้านสามารถมาใส่บาตรได้โดยไม่ลำบากมากนัก
หลายคนมักจะถามว่าทำไมถึงไม่ไปบวชวัดป่า จริงๆแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เพราะเท่าที่ผมทราบมาสายวัดป่าส่วนใหญ่ก็คือสายกรรมฐาน นั่นคือ สายสงบ อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง ส่วนใหญ่จะอยู่ต่างจังหวัดห่างไกล และไม่มีคลาสสอน ต้องศึกษาเอง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในเบื้องต้นของผมสักเท่าไร สุดท้ายจึงสรุปจบที่วัดนี้
วัดชลประทานฯ มีกำหนดอุปสมบทเป็นประจำทุกเดือน ยกเว้นช่วงเข้าพรรษา จะเป็นรุ่นจำพรรษา 3 เดือน รับสมัครสัปดาห์ที่ 2 สอบท่องสัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือน ณ โรงเรียนพุทธธรรม รายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://watchol.org/
ข้อมูลการบวชเบื้องต้นผมอาศัยอ่านจากบล็อกที่ท่านอื่นๆเขียนไว้ และปรึกษาจากน้องเต้รุ่นน้องที่เคยบวชช่วงเข้าพรรษาปีที่แล้ว ซึ่งหลักๆผมก็จะอ่านจากบล็อกของท่านธาน http://watchol.blogspot.com/ เนื้อหาครบถ้วนตั้งแต่เริ่มเตรียมตัวจนถึงลาสิกขา และแม้ว่าจะเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2553 แต่ข้อมูลก็ยังอัพเดตและสามารถใช้อ้างอิงได้อยู่ เนื้อหาในบล็อกของผมนี้จึงไม่ได้ลงรายละเอียดมาก ตั้งใจเขียนเพื่อเสริมความในสิ่งที่อาจจะตกหล่นไปจากบล็อกข้างต้น โดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา ดังนั้นใครที่ตั้งใจจะอ่านเพื่อเตรียมตัวบวช แนะนำให้อ่านควบคู่กันไป เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อความ 🙂
วันรับสมัคร
รอบผมรับสมัครวันที่ 9 มีนาคม 2557 มีผู้สนใจมาสมัครทั้งสิ้น 108 ท่าน กรอกใบสมัครบวชเสร็จ หลวงพ่อสมชายก็จะให้ยืนเรียงแถวแนะนำตัว และสัมภาษณ์ทีละคน ใครผมยาว ทรงแปลกๆ ทำสี หน้าตากวน ตาลึก ตาโหล ปากดำ เจาะหู สักตัว ก็จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ที่น่าทึ่งก็คือหลวงพ่อมองแว๊ปเดียวก็รู้เลยว่าใครเป็นใคร ใครออกอาการ ใครสุ่มเสี่ยงต่อการบวชไม่จบ หรือจะมีปัญหาตอนบวชก็จะสกรีนทิ้งไป
ซึ่งแน่นอนว่าผมก็ไม่อาจหลุดรอดพ้นจากเงื่อนไขข้างต้น (แหม..ก็อุตส่าห์ไว้ผมมาตั้งปีนึง ตัดรอบสุดท้ายก็ขอจัดหนักเสียหน่อย จริงๆช่างจะทำ grafiti ข้างหลังให้ด้วย แต่บอกไม่เอา) เพียงแค่เดินออกไปยังไม่ทันได้แนะนำตัว หลวงพ่อก็บอกว่า “ไอ่นี่ใช่ย่อย.. ไหนหมุนตัวซิ๊” ผมก็หมุนให้ดูหนึ่งรอบ พร้อมกับยิ้มกรุ้มกริ่มเบาๆ คงเป็นเพราะหน้าตาเด็กเนิร์ด อิ่มบุญ และดูไม่เป็นพิษเป็นภัยของผม หลวงพ่อก็เลยปล่อยให้ผ่านเข้ารอบต่อไป โดยทิ้งคำถามสุดท้ายก่อนปล่อยกลับไปนั่งว่า.. “ไม่เสียดายผม แน่นะ?” …… “ไม่เสียดายครับผม” 🙂
วันสอบคำขานนาค
หลังจากสมัครบวช อาทิตย์ถัดมาก็จะเป็นการสอบขานนาค เป็นคำบาลีเพื่อขออุปสมบทความยาว 1 หน้า A4 ดูเหมือนจะยาว แต่มันก็ซ้ำๆกัน ถ้าใครตั้งใจจะบวชจริงๆ ท่องจำแค่นี้สบายมาก ดูเหมือนว่าจะผ่านกันทุกคน รอบนี้พระอาจารย์ไม่ค่อยเคร่งมากเพราะว่ามาสมัครกันไม่ค่อยเยอะมาก กุฏิมีที่ว่างเพียงพอ บางรุ่นมาสมัครกันเยอะก็ต้องเคร่งกันหน่อย ตอนช่วงสอบท่องผมก็ไม่วายถูกถามเรื่องผมอีกครั้ง “ไว้มานานยัง..ไม่เสียดายผมเหรอ” “ไม่ครับ” และทำให้ถึงบางอ้อว่า พระอาจารย์เข้าใจว่าจุกบนหัวผมนี่คือ แกละ ไว้มาตั้งแต่เด็ก แล้วอยู่ดีๆจะมาโกนเพื่อบวช มันก็คงต้องถามย้ำๆซ้ำๆเสียหน่อย
หลังจากสอบผ่านก็ยื่นเอกสารทั้งหมดตามที่ระบุไว้ใน checklist รวมถึง ผลการตรวจร่างกายพร้อมทั้งผล HIV ด้วย
เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมสัมภาระ
หลังจากสอบเสร็จก็เหลือเวลาอีกประมาณ 2 อาทิตย์ให้เราได้เคลียร์งานที่บริษัท ลาบวชกับญาติพี่น้องผู้มีพระคุณทั้งหลาย
เตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมของให้พร้อมก่อนจะไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดร่วมเดือน ซึ่งสิ่งของที่ต้องเตรียมไปเนี่ย เป็นปัญหากับผมมาก คือไม่รู้ว่าอะไรต้องเตรียมไปหรืออะไรที่วัดมีให้อยู่แล้ว ก็เลยต้องใช้วิธีเดาๆไป ประกอบกับสอบถามจากรุ่นน้องที่เคยบวช เลยมีความตั้งใจว่าสึกมา จะขอสรุป checklist สิ่งของที่ต้องเตรียมไปให้อาวุโสรุ่นหลังเสียหน่อย
อัฐบริขารและสิ่งของจำเป็นที่วัดเตรียมให้
☑ ไตรจีวรชุดใหญ่ (สบง + จีวร + สังฆาฏิ + รัดประคด + ผ้ารัดอก + อังสะ + ผ้าอาบน้ำ)
☑ ไตรจีวรชุดเล็ก (สบง + จีวร + อังสะ)
☑ บาตร + ถลกบาตร
☑ ใบมีดโกน (เตรียมไว้ให้ในวันโกนหัว)
☑ ผ้าขาวห่มนาค
☑ ย่าม
☑ เสื่อปูรองนอน
หมายเหตุ เข็มด้าย และเครื่องกรองน้ำ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในยุคปัจจุบันทางวัดจึงตัดออกจากรายการ
สิ่งของที่ควรเตรียมไปจากบ้าน
☐ นาฬิกาปลุก
☐ ช้อนส้อม
☐ หมอนหนุน
☐ พัดลม (หน้าร้อนจำเป็นมาก) นอกจากช่วยคลายร้อน ยังช่วยพัดกันยุงได้เป็นอย่างดี
☐ ผ้าห่ม (ตามฤดูกาล) ถ้าบวชช่วงหน้าร้อน แนะนำเป็นผ้าแพร ผ้าบาติกบางๆ ส่วนใหญ่จะใช้กันยุงกันแมลงมากกว่า ไม่ได้เอามาห่มกันหนาว
☐ เสื้อเชิ้ตขาวแขนยาว เข็มขัด (ใช้ตอนเป็นนาค) เป็นเข็มขัดนาคเลยยิ่งดี แต่ถ้าไม่มีก็ใช้เข็มขัดธรรมดาได้ ดูรูเข็มขัดให้ดีๆ เอาให้รัดบริเวณสะดือได้แน่นหนา เดี๋ยวผ้านุ่งจะหลุดกลางงาน
☐ ผ้าเช็ดตัว
☐ มีดโกนหนวดส่วนตัว
☐ อุปกรณ์อาบน้ำ (ขันน้ำ สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน)
☐ ชุดนอนสำหรับคืนแรก
☐ ทิชชู่ (เช็ดบาตร เช็ดช้อนส้อม เช็ดนู้นนี่สารพัด) ของวัดก็มีแต่อาจไม่สะดวก เตรียมไปเองเถิด
☐ ที่ตัดเล็บ (ตัดเล็บ ถอนเสี้ยน)
☐ ไฟฉาย
☐ แป้งทาตัว ใช้ทาเพื่อรักษา ไม่ใช่เพื่อเป็นเครื่องหอม จำเป็นมากโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน เหงื่อออกเยอะ ทาตามขาหนีบ ซอกหลืบทั้งหลาย
☐ ยากันยุง
☐ เบาะรองนอน เห็นบางคนเอาไปกัน แต่ผมไม่กล้าเอาไป เพราะเกรงว่าจะผิดวินัย ก็นอนบนเสื่อนี่ล่ะ แข็งหน่อยสักพักก็ชิน
☐ กรรไกร ใช้ปลงผมวันบวช
สิ่งของที่ทางวัดมีอยู่แต่อาจไม่เพียงพอ (บางรุ่นคนเยอะ) ก็เตรียมไปเพิ่มเติมได้
☐ กาละมัง หรือถังน้ำ (สำหรับซักผ้า)
☐ อุปกรณ์ซักล้าง (น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน สก๊อชไบรท์ฟองน้ำ)
☐ เครื่องเขียน (สมุด ปากกา ดินสอ) ทางวัดมีแจกให้ แต่ถ้าใครไม่ถนัดก็เอาส่วนตัวไปได้
☐ ไม้แขวนเสื้อ ที่หนีบผ้า
☐ ยารักษาโรค (มีห้องยาอยู่ในกุฏิ) เป็นยาสามัญตามที่ญาติโยมเอามาถวาย ถ้ายาแปลกๆต้องเตรียมไปเอง (ยาทาไดโครฟีแนคยังไม่มีเลย)
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็นับเวลาถอยหลังเตรียมพร้อมเข้าสู่บทเรียนชีวิตในอีกด้านที่เราไม่อาจหาได้จากชีวิตฆราวาส
ธีรเดช ณ ขอบฟ้าแห่งรุ่งอรุณ