8-14 Sep 2013 : ปั้มน้ำเจ้าปัญหา

ไม่ได้ blog มานานขอจดบันทึกประสบการณ์ช่างที่ได้รับจากการซ่อมปั้มน้ำสุดที่เลิฟด้วยตัวเองเสียหน่อย

 

Timeline

Thu 5 Sep 2013, 16:00 – คุณแม่กริ๊งมาหาบอกว่า ปั้มน้ำอาการแปลกๆ พักหลังเปิดใช้น้ำแล้วมันร้อนมาก ร้อนจนลวกมือ เอามือออกแทบไม่ทัน เปิดตอนแรกๆยังปกติ ผ่านไปแป๊บนึงก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันก็ค่อยๆเย็นลงๆจนปกติ

Sun 8 Sep 2013, 18:30 – คุณพ่อกริ๊งมาหาบอกว่า ปั้มน้ำอาการแปลกๆ ปิดน้ำหมดทั้งบ้านแล้วแต่ปั้มน้ำก็ยังปั้มต่อไปประมาณ 2-3 นาที ถึงจะหยุด ซึ่งตามปกติจะปั้มต่อไปแค่ 7-10 วินาทีเท่านั้น ลองเอามือไปจับที่ฝาครอบรู้สึกว่าร้อน ผมจึงบอกให้ปิดปั้มน้ำแล้วใช้น้ำประปาผ่าน By pass ซะ

Mon 9 Sep 2013, 14:00 – ตรวจสอบเบื้องต้นดูไม่มีอะไรผิดปกติ อาการปั้มยาวก็ไม่เจอกับตัว ก็เลยลองเปิดดูอีกทีเพื่อสังเกตการณ์

Tue 10 Sep 2013, 16:00 – จุกเติมน้ำกระเด้งออกมาเนื่องจากรับแรงดันไม่ไหว และผิดพลาดจากการขันสกรูปีนเกลียว

Wed 11 Sep 2013, 10:00 – ซื้อจุกเติมน้ำตัวใหม่มา บรรจงปิดและขันกรูเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ปีนเกลียวอย่างแน่นอน

Thu 12 Sep 2013, 18:00 – คุณแม่คุณพ่อสังเกตการณ์ ปั้มน้ำยังคงร้อนเป็นบางเวลาและสอดคล้องกับการปั้มไม่ยอมหยุดนานๆ นั่นคือ หลังจากปั้มยาวๆ -> เปิดแล้วน้ำจะร้อน

Sat 14 Sep 2013, 03:30 – จุกเติมน้ำกระเด็นออกมาด้วยความแรง จนทำให้ฝาครอบปั้มน้ำกระเด็นหงายออกมาข้างนอก เสียงดังจนตกใจ ต้องปิดปั้มน้ำโดยด่วน สภาพเกลียวถูกแรงดันมหาศาลดันออกมาจนเกลียวเสียรูปไป คาดว่าคืนนั้น ปั้มคงปั้มไม่ยอมหยุด จนทำให้เกิดความดันมหาศาลพร้อมด้วยความร้อนจำนวนหนึ่งยิ่งทำให้เกลียวพลาสติกอ่อนตัวและครูดออกมาจากเบ้าด้วยความแรง หรือว่าจุกถูกออกแบบมาเพื่อ release over pressure จุกพังก่อนดีกว่าปั้มพังหรือไม่ก็ท่อประปาแตก

Sat 14 Sep 2013, 14:30 – ซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน Flow Switch, Nitrogen Accumulator และจุกเติมน้ำตัวที่สอง

Sun 15 Sep 2013, 23:59 – อาการหายเป็นปกติ

 

Problems

ปัญหาแบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลักๆคือ
1. น้ำที่ออกมาจากปั้ม ร้อนมากจนลวกมือ (ก่อนหน้านี้ก็อุ่นๆแต่ยังพอทนได้ ไม่ได้รู้สึกแปลกประหลาดอะไร เข้าใจว่าน้ำในแทงค์ตากแดด)
2. เมื่อไม่มีการใช้น้ำ บางครั้งปั้มน้ำจะทำงานต่อไปอีกประมาณ 2-3 นาทีแล้วค่อยหยุด ซึ่งปกติแล้ว 7 วินาทีก็เพียงพอ

 

Data Gathering

ก่อนอื่นขออธิบายหน้าที่ของชิ้นส่วนหลักๆในปั้มน้ำก่อน

IMG_20130914_151830-001

IMG_20130920_013503-002

1. Motor + Pump Head  – มอเตอร์และหัวปั้ม

2. Pressure Switch – สวิตช์ควบคุมแรงดันน้ำ บอกระดับความดันสูงสุดและต่ำสุดตามที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการตัดและต่อการทำงานของมอเตอร์

IMG_20130914_143619

3. Flow Switch – สวิตช์ควบคุมการไหลของน้ำ ทำงานควบคู่กับ Pressure Switch โดย Flow Switch จะมีบานพับที่เคลื่อนที่ได้อิสระจุ่มลงไปในน้ำขวางท่อน้ำไว้ เมื่อมีการเปิดใช้น้ำบานพับจะถูกกระแสน้ำดันให้เคลื่อนที่ไปซึ่งวงจรภายในจะใช้หลักการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กไปใช้ในการเปิดปิดวงจร

– ขณะที่เปิดใช้น้ำวงจรจะสั่งให้ปั้มน้ำทำงานต่อเนื่อง แม้ว่าแรงดันในท่อจะสูงเกินจุดที่ Pressure Switch กำหนดไว้ก็ตาม

– เมื่อปิดน้ำบานพับจะหยุดแล้วกลับเข้าสู่ตำแหน่งเริ่มต้น ปั้มน้ำจะปั้มต่อไปเรื่อยๆจนถึงจุดแรงดันสูงสุดตามที่ Pressure Switch กำหนด ปั้มน้ำก็จะหยุดทำงาน

– เมื่อมีการเปิดใช้น้ำ แรงดันในท่อจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดแรงดันต่ำสุดตามที่ Pressure Switch กำหนด ปั้มน้ำก็จะเริ่มทำงาน

4. Nitrogen Accumulator – ถังความดันไนโตรเจน ใช้เพื่อชดเชยแรงดันในท่อเมื่อมีการใช้น้ำหลายๆจุดพร้อมกัน ทำให้ความดันน้ำเรียบขึ้น ความร้อนของเครื่องทำน้ำอุ่นสม่ำเสมอ

IMG_20130911_100701

 

Analysis & Causes

หลังจากเฝ้าดูอาการของปั้มน้ำและโทรติดต่อช่างเทคนิคของ Mitsu ทั้ง 4 คน รวมถึงเพื่อนๆที่รู้จักอีกบางส่วน สามารถอธิบายลำดับการเกิดปัญหาได้ดังนี้

[1.] เปิดใช้น้ำ -> แรงดันในท่อลด -> ปั้มน้ำเริ่มทำงาน -> ปิดน้ำ -> ปั้มน้ำทำงานต่อไปจนกว่าแรงดันจะถึงจุดที่ต้องหยุด -> Flow Switch ทำงานผิดพลาด ปั้มน้ำเข้าใจว่ายังคงมีน้ำไหลอยู่ -> ปั้มน้ำปั้มต่อไปเรื่อยๆ -> แรงดันในท่อน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ -> ความร้อนจากมอเตอร์ถ่ายเทเข้าระบบขึ้นเรื่อยๆ -> น้ำร้อนขึ้นเรื่อยๆ

[1.1] -> ความร้อนและแรงสั่นสะเทือนทำให้ระบบ mechanic ของ flow switch กลับมาทำงานได้อีกครั้ง -> ปั้มน้ำตัดการทำงาน -> ความร้อนจากมอเตอร์ถ่ายเทลงน้ำที่ค้างอยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง -> เปิดใช้น้ำ -> ช่วงแรกๆน้ำจะเย็นปกติ -> ก้อนน้ำที่ค้างอยู่ในปั้มเคลื่อนตัวต่อไปยังก็อกน้ำ -> น้ำร้อนค่อยๆร้อน และร้อนจนถึงขีดสุดพอที่จะลวกมือได้ -> ผ่านพ้นก้อนน้ำนั้น อุณหภูมิน้ำกลับสู่ภาวะปกติ

[1.2] -> ความร้อนและแรงสั่นสะเทือนไม่สามารถทำให้ระบบ mechanic ของ flow switch กลับมาทำงานได้อีกครั้ง -> ปั้มน้ำยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง -> ความร้อนและความดันสูงขึ้นจนสามารถดันจุกเติมน้ำกระเด็นออกมาด้วยความแรงสูง เกลียวพัง ใช้งานต่อไม่ได้

 

Solutions & Conclusion

หลังจากทดลองและวิเคราะห์ผล สรุปได้ว่า.. Flow Switch ทำงานผิดพลาด ไม่ตัดการทำงานของปั้มน้ำตามที่ควรจะเป็น จึงต้องเปลี่ยน Switch ยกชุด ราคาประมาณ 15xx พร้อมกับถังความดันซึ่งเจ๊งมานานตั้งแต่หลังน้ำท่วมอีกประมาณ 12xx บาท และจุดเติมน้ำอีก 2 ตัว ราคา 240 บาท

รวมๆแล้วเสียค่าอะไหล่สำหรับการซ่อมปั้มน้ำครั้งนี้ทั้งสิ้น 3000 บาท.. ซ่อมเอง ไม่ต้องเรียกช่าง ประหยัดค่าช่างไป 600 บาท และได้ความรู้มาอีกตรึมเลย.. ^^

IMG_20130913_172418_1

ภูมิใจนะ อะไรที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรงเราก็อยากทำเอง ยิ่งจบวิศวฯมาด้วย ก็พอมีความรู้อยู่บ้าง ได้ทดลองได้แก้ไขปัญหา สนุกดีออก 🙂
แล้วยิ่งระบบปั้มน้ำในบ้านเราเป็นคนออกแบบและติดตั้งเอง ก็ยิ่งรักยิ่งหวงเป็นธรรมดา ก็อยากจะลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ถึงที่สุดก่อนที่จะเรียกช่างมาดู

ธีรเดช ซ่อมปั้มน้ำ (อีกแล้ว)